Our Fish

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย


      ฝนตกอากาศเย็นสร้างบรรยากาศดี ๆ หลายอย่าง ทว่าสำหรับคนเลี้ยงปลาแล้ว อากาศที่เปลี่ยนไปมาก็ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ต้องระแวดระวังกันไว้บ้างเหมือนกัน ช่วงอากาศแปรปรวนอย่างนี้มักมีปัญหาโรคปลาระบาด เห็นบ่อยที่สุดคือโรคจุดขาวที่มีลักษณะเหมือนมีผงเกลือป่นโรยไว้บนตัวปลา อีกโรคคืออาการตกเลือด ลักษณะคือผิวหนังหรือครีบบางส่วนเป็นรอยจ้ำแดงคล้ำ โรคพวกนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถตายได้ยกตู้ เพื่อความไม่ประมาทหาซื้อยามาไว้เตรียมพร้อม ถ้าไม่เป็นก็ดีไป แต่ถ้าเกิดเป็นขึ้นมาจะได้จัดการแก้ไขได้ เพราะจะว่าไปก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไรนัก


      จุดขาวหรือ “อิ๊ค” นั้นเป็นโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยน้ำเลี้ยงจากเนื้อเยื่อของปลา ปลาที่เริ่มเป็นโรคจุดขาวจะมีอาการคันตัว ว่ายกระสับกระส่าย พยายามไถตัวกับพื้นหรือวัตถุแข็ง ๆ เพื่อให้จุดขาวหลุดออกไป เมื่อเป็นหนักเข้าก็จะซึม หมดเรี่ยวแรงและตาย ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น


               การรักษาโรคจุดขาวควรเริ่มตั้งแต่เห็นอาการขั้นแรก ๆ ปลาส่วนใหญ่เมื่อถูกจุดขาวโจมตีระยะแรกก็ยังไม่ออกอาการผิดปรกติ แม้ว่าจะสังเกตเห็นจุดขาว ๆ เล็ก ๆ ตามตัวตามครีบบ้างแล้วก็ตาม ยารักษาโรคจุดขาวมีมากมายหลายชนิดตามท้องตลาด โดยมากจะมีส่วนประกอบของสารฟอร์มาลินและมาลาไคท์กรีน การใช้ต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณให้ดีเนื่องจากสารทั้งสองชนิดนี้เป็นพิษต่อปลา หากใช้เกินกว่ากำหนดจะกลายเป็นฆ่าปลาที่เลี้ยงไว้เสียเอง หรือใช้น้อยเกินไปตัวยาก็จะไม่มีความรุนแรงพอที่จะไปยับยั้งโรคได้


            โรคตกเลือดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระยะที่ภูมิคุ้มกันโรคของปลาอ่อนแอ ร่างกายของปลาจะต่อต้านโรคโดยทำให้เส้นเลือดฝอยขยายตัว เช่นเดียวกับโรคจุดขาวคือถ้าเห็นอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกก็จะสามารถรักษาได้ไม่ยากเลย แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไรเพียงไม่กี่วันปลาก็จะลาโลกอย่างง่ายดาย ยารักษาอาการตกเลือดมีหลายขนาน ส่วนมากคือยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ หาซื้อได้ตามร้านขายปลาทั่วไป วันนี้จะไม่ลงลึกถึงอาการของโรคและวิธีรักษา แต่อยากจะมาว่ากันถึงวิธีรับมือป้องกันจะดีกว่าครับ


          ในช่วงฤดูฝนนี้ อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ปลาที่เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจึงอยู่ในภาวะอ่อนแอ ง่ายต่อการติดเชื้อ สังเกตได้ว่าหลาย ๆ ท่านในระยะนี้ที่มีรสนิยมการเปลี่ยนถ่ายน้ำแบบนาน ๆ หลายเดือนทำสักครั้งมักมีปัญหาปลาเป็นโรคดังกล่าว นั่นเพราะสภาพน้ำในตู้ที่หมักหมมไว้นานทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี ประกอบกับปลามีภูมิคุ้มกันโรคน้อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปก็ออกอาการแย่อย่างรวดเร็ว บางทีแค่คืนเดียวตายเกลี้ยงก็มี


          ดังนั้นการป้องกันอันดับหนึ่งคือควรหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำและทำความสะอาดระบบกรองบ่อย ๆ ครับ
การเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ถูกต้องคือเปลี่ยนถ่ายครั้งละไม่เกิน 20-25% ของน้ำในตู้ทั้งหมด และน้ำที่จะเติมกลับเข้าไปต้องเป็นน้ำสะอาดปราศจากคลอรีน ที่สำคัญต้องมีอุณหภูมิเท่ากันกับน้ำในตู้ด้วย และการเปลี่ยนถ่ายน้ำควรทำเป็นประจำ สัปดาห์ละครั้งสำหรับตู้เล็กถึงขนาดกลาง เดือนละครั้งสำหรับตู้ขนาดใหญ่ที่มีระบบกรองดีเยี่ยม อย่าใช้วิธีสังเกตสีน้ำหรือสังเกตความขุ่น เพราะถ้าน้ำมันเปลี่ยนสีหรือขุ่นข้นขึ้นมาแล้วก็แสดงว่าความเป็นพิษในน้ำนั้นมากมายมหาศาลแล้ว


          การทำความสะอาดระบบกรองต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากกรองในตู้ปลามักเป็นกรองแบบชีวภาพ อาศัยจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายของเสียเปลี่ยนสภาพจากน้ำเสียมาเป็นน้ำดี การล้างควรล้างเฉพาะใยกรองที่เป็นด่านแรกที่น้ำในตู้ไหลผ่าน ส่วนวัสดุกรองนั้นไม่จำเป็นต้องเอาออกมาล้างบ่อยนัก เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่สูญสลายไป (เสียดาย) ที่สำคัญ หลังจากเปลี่ยนถ่ายน้ำเสร็จก็อย่าไปใส่พวกเคมีภัณฑ์ทั้งหลายแหล่ (เช่นยาปรับสภาพน้ำใส ยาลดคลอรีน ยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าพยาธิ ฯลฯ) ตามคำโฆษณาจากบรรดาร้านขายปลา เพราะจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ถูกฆ่าไปด้วย ระบบนิเวศในน้ำก็จะเสียสมดุล  ลดปริมาณอาหารลง เพื่อช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้น จากที่เคยให้วันละสองมื้อก็อาจเหลือแค่มื้อเดียว หรือจากที่เคยให้สิบเม็ดก็ปรับลงเหลือสักห้าหกเม็ดก็พอ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหิว เพราะสภาพอากาศแบบนี้ปลามักกินน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติ


             สำหรับคนที่เลี้ยงปลาด้วยอาหารสด ต้องระวังเชื้อโรคต่าง ๆ ที่จะมาพร้อมอาหาร เพราะอาหารสด ๆ เป็น ๆ เช่นลูกปลานิล กุ้งฝอย จะถูกกักไว้อย่างแออัดในร้านค้าขณะรอจำหน่าย บ่อยครั้งที่พบว่าเหยื่อเหล่านี้ติดเชื้อแบคทีเรียขั้นรุนแรงหรือโรคจุดขาวที่เห็นแล้วสยองขวัญมาก เป็นไปได้หาซื้อร้านที่มีระบบจัดเก็บแบบถูกสุขลักษณะอนามัย และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเอาปลาเหยื่อเหล่านั้นมาเลี้ยงกักโรคไว้ก่อน เมื่อแน่ใจแล้วว่าปราศจากโรคค่อยเอาไปใช้งาน และอย่าให้เหยื่อเป็นครั้งละมาก ๆ เกินกว่าปลาจะกินหมดในหนึ่งมื้อ


         อุปกรณ์บางอย่างก็น่าหาซื้อมาใช้กันมากในช่วงนี้ นั่นก็คือฮีทเตอร์ หรือเครื่องทำความร้อนในตู้ปลา ลักษณะเป็นแท่งแก้ว (หรือสแตนเลส) สามารถตั้งอุณหภูมิให้สูงขึ้นได้ตามต้องการ เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพง หาซื้อได้ทั่วไป แต่ควรเลือกแบบที่มีเทอร์โมสตัดเพื่อให้ตัดการทำงานหากอุณหภูมิอยู่ในระดับที่ตั้งไว้แล้ว  ฮีทเตอร์มีประโยชน์คือทำให้อุณหภูมิในน้ำสูงขึ้นและคงที่ ตู้ปลาที่ติดตั้งฮีทเตอร์จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคหน้าหนาว (ยกเว้นประเภทติดฮีทเตอร์แล้วแต่ก็ยังขี้เกียจเปลี่ยนถ่ายน้ำ อีแบบนี้ยังไงก็ต้องมีปัญหาอยู่ดี) การใช้งานฮีทเตอร์ก็ง่ายแสนง่าย ก่อนอื่นเลือกขนาดฮีทเตอร์ให้เหมาะกับขนาดตู้ปลาของเรา โดยใช้สูตรคำนวณคร่าว ๆ คือ 1 วัตต์ต่อน้ำ 1 ลิตร เช่นตู้ปลาขนาดจุน้ำ 100 ลิตร ก็ให้เลือกใช้ฮีทเตอร์ขนาด 100 วัตต์หรือใกล้เคียง ตั้งค่าฮีทเตอร์ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ติดตั้งลงในตู้ปลาโดยจุ่มแช่ไว้เหลือแค่ส่วนหัวพ้นน้ำขึ้นมาเล็กน้อย (ทุกยี่ห้อจะมีขีดบอกระดับน้ำไว้) เสร็จแล้วค่อยเสียบปลั๊ก ไฟแสดงสถานการณ์ทำงานจะติดสว่าง ถ้าไฟดับแสดงว่าอุณหภูมิน้ำถึงจุดที่ตั้งไว้แล้ว (หรือไม่ก็เสีย)
ทำได้ดังนี้รับรองว่าอากาศจะเปลี่ยนก็ยังเลี้ยงปลาได้สบาย ๆ ขอให้สนุกกับการเลี้ยงปลาทุกท่านครับ


บทความโดย พิชิต ไทยยืนวงษ์

ไม่มีความคิดเห็น: