Our Fish

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การดูแลปลาช่วงอากาศร้อน

การลดความร้อนของน้ำในตู้ปลา


โดย พิชิต ไทยยืนวงษ์

www.facebook.com/FinChompla




ความร้อนของน้ำนอกจากทำให้ออกซิเจนต่ำแล้ว ยังทำให้การบูดเน่าของของเสียต่าง ๆ ทั้งอาหารและขี้ปลาเกิดขึ้นรวดเร็ว จะสังเกตได้ชัดว่าตู้ปลาที่มีการให้อาหารมากน้ำจะขุ่นและมีกลิ่นเหม็นทั้งที่มีระบบกรอง และการย่อยสลายของเสียโดยแบคทีเรียภายในตู้เกิดขึ้นมากและเร็ว อัตราการใช้ออกซิเจนก็สูงขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว เมื่อน้ำเสียเร็ว ออกซิเจนน้อย แบคทีเรียมาแย่งอากาศปลา และความร้อนที่มากเกินกว่าธรรมชาติของตัวปลาจะรับไหว ผลก็คือปลาตาย ซึ่งอาจทยอยตายทีละตัวสองตัว หรือแม้กระทั่งตายยกตู้พร้อม ๆ กันก็มีให้เห็นบ่อยครั้งในช่วงนี้

ลองสำรวจตู้ปลาที่บ้านว่าอุณหภูมิของน้ำในตู้เป็นอย่างไรกันบ้าง วิธีง่ายที่สุดคือใช้เทอร์โมมิเตอร์ การใช้คือแช่แท่งเทอร์โมมิเตอร์ไว้ในตู้ แล้วดูปรอทว่าอยู่ในระดับเท่าไหร่ หากสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส ก็แสดงว่าเริ่มจะร้อนแล้ว แต่ยังพอทน ถ้าพุ่งทะลุขึ้นไป 33-34 หรือมากกว่านั้น ต้องรีบหาวิธีลดความร้อนในตู้โดยด่วน อย่ารอให้เกิดปัญหาปลาตายเสียก่อน

วิธีลดความร้อนของน้ำในตู้ปลา

1 หากเป็นตู้มีฝาปิด ควรยกฝาออก หรือแง้มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ความร้อนลอยตัว อากาศมีการระบายถ่ายเท (หากกลัวปลากระโดดอาจหาตาข่ายหรืออะไรที่ใช้แทนกันมาปิดคลุม)

2 ใช้พัดลมเป่าเข้าที่ตู้ปลาโดยตรง หรือจะให้ดีกว่านั้นอาจลงทุนซื้อพัดลมขนาดเล็กที่ออกแบบสำหรับติดตั้งในตู้ปลา จะช่วยลดอุณหภูมิได้ถึง 2-3 องศาเซลเซียส

3 เพิ่มอากาศลงในตู้โดยใช้ปั๊มลมและหัวทราย ออกซิเจนในปริมาณมากจะช่วยลดแอมโมเนียในน้ำ และทำให้การย่อยสลายของเสียของแบคทีเรียทำงานได้มีประสิทธิภาพโดยไม่ไปแย่งออกซิเจนกับปลา

4 ปิดไฟส่องสว่าง อย่าลืมว่าความร้อนจากหลอดไฟก็ช่วยเพิ่มอุณหภูมิในน้ำได้เช่นกัน

เมื่อความร้อนลดลงบ้างแล้วก็อย่าเพิ่งวางใจ ควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องในต่อไปนี้เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพดี แข็งแรง นั่นคือ

1 หากเลี้ยงปลาหนาแน่น ควรแบ่งเบาออกไปบ้าง

2 ลดปริมาณอาหารสำหรับคนที่ชอบให้อาหารปลาวันละหลาย ๆ มื้อ

3 ระวังอาหารที่ทำให้น้ำเน่าเสียง่าย เช่นอาหารสด หรืออาหารสำเร็จรูปที่ปลากินเหลือ

4 หากมีปลาป่วยควรแยกออกทันที และควรมีตู้ว่างต่างหากสำหรับแยกรักษาปลา (ตู้พยาบาล อย่างที่เคยพูดถึงหลายครั้งหลายหน)

5 สำหรับผู้ที่ชอบเติมน้ำยาต่าง ๆ หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำ ไม่ว่าจะมาลาไคท์กรีน ยาลดคลอรีน หรือยาปรับน้ำใส ให้หยุดไว้ก่อน (เลิกใส่ได้เลยยิ่งดี) เพราะจะเป็นการทำลายระบบนิเวศในตู้ปลา หากเกรงว่าน้ำจะมีคลอรีนให้ใช้น้ำประปาที่เปิดพักไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง หรือใช้เครื่องกรองน้ำ

6 เปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ ในปริมาณ 20% น้ำใหม่จะช่วยเจือจางไนไตรท์และไนเตรทในน้ำ ช่วยให้ปลาสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่น้ำที่เติมเข้าไปใหม่ต้องระวังเรื่องของความต่างอุณหภูมิ จะให้ดีควรนำน้ำนั้นมาพักไว้ก่อน จนน้ำอุณหภูมิเท่ากันค่อยเติม



วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำในตู้ปลาใสได้อย่างไร ตอนจบ



 องค์ประกอบที่ทำให้น้ำในตู้ปลาใส

1 ระบบกรองดี

2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

3 ให้อาหารพอสมควร

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ



ว่ากันไป 2 หัวข้อแล้ว ฉบับนี้มาต่อกันให้จบเลยดีกว่านะครับ

3 ให้อาหารพอสมควร

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคนเรานั้นกินข้าว 3 มื้อ คือเช้า กลางวันและเย็น แต่สัตว์ต่าง ๆ รวมไปถึงปลาไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปลาที่ว่ายอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมื้ออาหารไม่แน่นอน ปลาบางชนิดอาจต้องกินเกือบตลอดเวลา เช่นพวกปลากินพืชประเภทตะไคร่น้ำหรือปลาที่กินแพลงค์ตอน ปลาบางชนิดที่เป็นนักล่าก็จะล่าเฉพาะเวลาหิว หากได้กินจนท้องตุงก็จะหยุดล่าไปเป็นพักใหญ่ ปลาที่อาศัยในน้ำเชี่ยวกรากต้องใช้พลังงานสูงในการดำรงชีวิต พวกมันจึงต้องการอาหารในปริมาณที่มากและบ่อย และปลาที่อยู่ในช่วงจำศีลของฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอาจไม่ต้องการอาหารใด ๆ เลยเป็นเวลานานหลายเดือน

ปลาที่เรานำมาเลี้ยงดูเล่นสวยงาม โดยส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยงง่าย กินง่าย เช่นปลาทอง ปลาคาร์พ ปลาหางนกยูง ปลาหมอสี ฯลฯ เมื่อเห็นคนเลี้ยงก็จะว่ายกรูกันมาขออาหารอย่างแสนรู้ หลายคนชอบใจให้อาหารวันละหลาย ๆ มื้อเพราะเห็นมันทำท่าหิวโหยอ้าปากรอ ครั้นจะทำนิ่งเฉยก็สงสาร ให้ไปให้มาไม่กี่วันปลาเริ่มออกอาการป่วย สภาพน้ำแย่ส่งกลิ่นคาว ปลาบางตัวตกเลือด เมือกห่อทั้งตัวจนตาขาวขุ่น ลอยคอทำปากพะงาบ อันเป็นอาการของโรคร้ายแรง ถ้าไม่รีบรักษาก็จะตายยกตู้

การให้อาหารปลาควรจัดปริมาณและมื้อให้แน่นอน อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป มีผลเสียทั้งสองอย่าง ให้มากปลากินเกินจนเหลือ มีเศษอาหารตกค้าง มีของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายมากจนระบบกรองรองรับไม่ไหว ให้น้อยเกินไปปลาก็ได้รับสารอาหารไม่ครบสมบูรณ์ ร่างกายจะผ่ายผอม อ่อนแอ ปลาใหญ่ที่แข็งแรงกว่าจะรังแกปลาที่อ่อนแอกว่าจนถึงขั้นกัดกินกันเอง

ตำราการเลี้ยงปลาไม่ว่าจะเล่มไหนมักบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การให้อาหารปลาควรให้เพียงวันละ 1-2 มื้อก็พอ ไม่ควรบ่อยไปกว่านั้น ในแต่ละมื้อก็ให้ในปริมาณที่ปลาสามารถกินหมดได้ใน 3-5 นาที อย่าปล่อยให้อาหารลอยอืดนานเกินไป ถ้าปลากินไม่หมดภายในเวลาดังกล่าวก็ให้รีบตักออก เพื่อป้องกันไม่ให้คุณภาพน้ำเสื่อมเร็วกว่าเวลาอันควร

ผมมักแนะนำผู้เลี้ยงที่ไม่ค่อยจะมีเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ว่าให้ให้อาหารปลาเพียงวันละมื้อเดียว และควรเป็นมื้อเช้าหรือสาย ๆ ตลอดทั้งวันหลังจากนั้นไม่ต้องให้แล้ว ด้วยวิธีการนี้ปลาอาจกินได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็ยังเรียกว่าพอเพียงไม่อดอยาก คุณภาพน้ำในตู้ก็จะใสสะอาดได้นานไม่ต้องมาเปลี่ยนถ่ายน้ำกันบ่อย ๆ ส่วนผู้เลี้ยงที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลา ชอบที่จะเห็นพวกมันได้กินกันเต็มที่ ได้ว่ายน้ำเล่นเบิกบานหลังมื้ออาหาร และมีเวลาในการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำตามสมควร แบบนี้ก็สามารถให้ได้ถึง 2 มื้อต่อวันอย่างคู่มือการเลี้ยงปลาทั่วไปเขาแนะนำกันครับ

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ

หัวข้อนี้ผมเดาว่านักเลี้ยงปลาที่ออกแนวขี้เกียจคงไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นงานที่ต้องใช้เวลาอยู่ ยิ่งถ้าตู้ปลาขนาดใหญ่ ๆ เลี้ยงปลาเยอะ ๆ แน่น ๆ จะล้างกันทีเล่นเอาเหงื่อตก

การเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลานั้นสำคัญมาก ไม่ควรละเลยสิ่งนี้ครับ บางท่านเสาะหาตู้ปลาที่มีระบบกรองซูเปอร์สเปเชียล คือไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอีกเลยในชาตินี้ ซึ่งหายังไงก็คงไม่เจอ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ครับ จำไว้เลยว่าน้ำในตู้ปลาเป็นน้ำที่รอวันเน่าเสีย เพราะมันมีปริมาณน้อยมาก (หากเทียบกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่เพียบพร้อมด้วยระบบนิเวศ) และต้องรองรับของเสียตลอดเวลาจากปลาที่เลี้ยงและอย่างอื่นอีกสารพัน ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหารตกค้าง เศษใบไม้ อินทรียวัตถุต่าง ๆ ระบบกรองอย่างที่เล่ามาในหัวข้อ 1 นั้น ต่อให้ดีวิเศษแค่ไหนก็เป็นเพียงแค่ประวิงเวลาให้คุณภาพน้ำเสื่อมสภาพช้าลง การเปลี่ยนเอาน้ำใหม่ลงไปในตู้เป็นประจำจะทำให้คุณภาพน้ำที่ค่อย ๆ ลดลงกลายมาเป็นน้ำที่ดีขึ้น ปลาเองเมื่อได้น้ำใหม่ก็จะสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีความสุข สีสันออกเต็มที่ ผิดกับปลาที่เลี้ยงในตู้ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นเวลานาน ๆ มักจะมีอาการหม่นหมอง เกล็ดไม่มันสีไม่สด และอาจอมโรคไว้หลายโรคเช่น โรคหัวหลุม โรคเหงือกอ้าหรือเหงือกร่น และโรคเน่าตามครีบและลำตัว ซึ่งสาเหตุก็มาจากความเป็นพิษในน้ำอันเกิดจากการสะสมตัวของความสกปรกดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

หลายท่านเข้าใจว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นงานใหญ่ ต้องตักปลาออกไปพักไว้ในกาละมัง ต้องโกยเอากรวดหินประดับสารพัดในตู้ออกมาล้างขัดและตากแดด ส่วนตู้นั้นก็ให้ขัดด้วยน้ำยาล้างจาน ระบบกรองก็ให้รื้อออกมา ฉีดล้างน้ำยาจนเอี่ยมอ่อง ผมแน่ใจว่าเคยได้คุยกับผู้เลี้ยงหลายรายที่ใช้วิธีนี้ บางท่านจัดเอาวันล้างตู้ปลาเป็นวันครอบครัว คือทั้งพ่อแม่ลูกต้องอยู่บ้านช่วยกันคนละไม้ละมือ ทำตั้งแต่เช้ากว่าจะเสร็จก็เกือบเย็น จากนั้นค่อยออกไปฉลองกินสุกี้เอ็มเคกันต่อไปอย่างหิวโหย เพราะใช้พลังงานไปล้านกว่าแคลอรี่ กลับมาบ้านน้ำในตู้ก็ยังไม่ใสอยู่ดี แถมอาจมีปลาตายเพราะได้รับสารเคมีจากน้ำยาล้างจาน

จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลานั้นง่ายมาก ง่ายจนหลายคนกังขาว่าจริงรื้อ? โม้รึเปล่า? ทำอย่างงั้นแล้วตู้มันจะสะอาดได้ไง้?...ได้สิครับ ถ้าทำตามเงื่อนไขที่ผมสาธยายมา 3 หัวข้อแรก ข้อสุดท้ายคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำก็จะกลายเป็นง่ายนิดเดียวคือสัปดาห์ละ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมากไปกว่านั้นเลย



ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำแบบง่าย ๆ ทำดังนี้ครับ

1 ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในตู้ปลาออกให้หมด

2 เช็ดกระจกด้านในที่อาจมีคราบตะไคร่หรือเมือกปลาเกาะอยู่ (เดี๋ยวนี้มีแม่เหล็กขัดกระจก ใช้ง่ายไม่ต้องล้วงมือลงในตู้) ตัดตกแต่งต้นไม้น้ำ (หากมี) ปล่อยให้ตกตะกอนอย่างน้อย 10 นาที ในระหว่างนี้ก็ถือโอกาสเปลี่ยนใยกรองหรือหากใช้กรองประเภทกระป๋องหรือฟองน้ำก็ให้เอาออกมาบีบซักทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าเบา ๆ แล้วเอากลับเข้าที่เดิม

3 ดูดของเสียที่ตกตะกอนออกด้วยไซฟอน (หรือซัคชั่น อุปกรณ์เปลี่ยนถ่ายน้ำอีกอันที่ควรมีติดบ้านไว้ ราคาไม่แพง) ย้ายตำแหน่งการดูดไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ เพื่อไม่ให้ปลาตกใจ จนน้ำออกจากตู้ 20-25เปอร์เซ็นต์ก็หยุด

4 เกลี่ยพื้นกรวดและจัดตำแหน่งของวัสดุตกแต่ง เช่นต้นไม้น้ำ ให้เข้าที่เข้าทาง

5 เติมน้ำโดยใช้น้ำปราศจากคลอรีนและมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับน้ำในตู้ ถ้าใช้สายยางเติมให้เปิดน้ำเบา ๆ ช้า ๆ เพื่อให้ปลาค่อย ๆ ปรับตัวกับน้ำใหม่ ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำยาอะไรทั้งสิ้นหลังเติมน้ำ

เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยครับ ไม่ยุ่งยากอะไรเลยแถมยังใช้เวลาน้อย ทำคนเดียวก็ได้ด้วย ไม่ต้องลากคนทั้งครอบครัวมาเหนื่อยยากวุ่นวาย

หากทำได้อย่างที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมด 4 หัวข้อ การมีตู้ปลาที่น้ำข้างในใสแจ๋วดังว้อดก้าสเมอร์นอฟก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ขอให้สนุกกับการเลี้ยงปลาครับ

บทความโดย พิชิต ไทยยืนวงษ์
ภาพ             สายพร มาพรหม

น้ำในตู้ปลาใสได้อย่างไร ตอนที่ 2

ทวนความจำกันนิด ว่าน้ำในตู้ปลาจะใสแจ๋วได้ด้วยหลัก 4 ประการ คือ


1 ระบบกรองดี

2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

3 ให้อาหารพอสมควร

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ

คราวก่อนคุยถึงข้อที่ 1 คือระบบกรองดีกันไปแล้ว มาว่าข้อต่อไปกันเลยดีกว่านะครับ



2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

เปรียบตู้ปลาเป็นห้องห้องหนึ่ง ส่วนปลานั้นก็เปรียบเป็นคน หากมีคนอาศัยอยู่ในห้องนั้นสักคนสองคน ก็ยังอยู่กันได้สบาย ๆ ไม่อึดอัด ทำความสะอาดก็ง่ายและไม่ต้องบ่อยมาก เพื่อนร่วมห้องแต่ละคนยังมีพื้นที่รอบตัวให้พอสบาย สุขภาพจิตก็จะดี ยิ้มแย้มแจ่มใสให้กันได้ ในขณะที่ห้องอีกห้องหนึ่งมีขนาดเท่ากัน แต่กลับจุคนเข้าไปตั้งสิบคน รับรองว่าห้องนี้ไม่น่าอยู่แน่ เพราะมันจะแออัดยัดเยียดเบียดเสียด ต้องแย่งกันทั้งพื้นที่และอากาศหายใจ ความสกปรกก็เกิดขึ้นง่ายต้องทำความสะอาดกันถี่ยิบบ่อยครั้ง สุขภาพจิตของสมาชิกในห้องคงไม่ต้องบอกก็พอจะรู้ว่าไม่ต่างอะไรกับนักโทษในคุกลาดยาว ขยับนิดก็กระทบกระแทกกัน หายใจก็รดหน้ากันไปกันมา สายตาก็ขวางเหมือนสุนัขกลางอากาศร้อนเปรี้ยง พานจะมีเรื่องใส่กันตลอดเวลา บ้างก็เครียดจนป่วย บางโรคติดต่อกันได้ก็พาเอาเพื่อนร่วมห้องติดกันระงม

ตู้ปลาสมัยนี้มักมีระบบกรองน้ำในตัว ช่วยชะลอให้คุณภาพของน้ำเสียช้าลง ทำให้น้ำใส ปลามีสุขภาพแข็งแรง แต่นั่นจำเป็นต้องใส่ปลาให้พอเหมาะกับขนาดของตู้ หากจำนวนปลามีความหนาแน่นมากเกินไป ปัญหาต่าง ๆ ก็จะตามมาในเวลารวดเร็ว เช่นน้ำขุ่นเต็มไปด้วยของเสียที่ปลาขับถ่าย น้ำมีกลิ่นเหม็น ปลามีความเครียดสูง ไม่มีความสุข สีสันซีดหรือดำคล้ำ สุขภาพย่ำแย่มีอาการเจ็บป่วยเป็นประจำ

หลายท่านนิยมเลี้ยงปลาทองเป็นจำนวนเลขมงคล เช่น 9 ตัว แต่ตู้มีขนาดเล็กมาก ปลาว่ายกันขลุกขลักกลิ้งไปกลิ้งมาไม่มีความสุขเลยสักนิด แบบนี้เลี้ยงได้หน่อยก็มักพบว่าปลาป่วย ตายบ่อยต้องคอยซื้อเปลี่ยน และน้ำไม่เคยใสกับเขาเลยสักครั้ง

จะรู้ได้อย่างไร ว่าตู้ปลาที่บ้านหนาแน่นเกินไปหรือยัง?

เอาแบบง่าย ๆ ครับ คือใช้ความรู้สึก ถ้ามองตู้แล้วรู้สึกว่ายังมีที่ว่างให้ปลาแต่ละตัวว่ายไม่กระทบกระทั่งกัน มองไปยังเห็นที่เปล่า ๆ ปราศจากปลาบ้างในบางจุด อย่างนี้ก็ยังถือว่าพอได้ แต่ถ้ามองไปตรงไหนก็มีแต่ปลา แออัดเบียดเสียด อย่างนี้ก็เรียกว่าแน่นมากไปแล้ว

กับอีกแบบที่อาจยุ่งยากกว่านิดหน่อย แต่ชัวร์กว่า คือใช้หลักคำนวณปริมาตรน้ำต่อปลาที่เลี้ยง วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมใช้ในบ้านเราเท่าใดนัก แต่ผมชอบใช้ในการประเมินเวลาใครมาถามว่าตู้ขนาดนี้ควรจะเลี้ยงปลาได้กี่ตัว คำนวณให้เสร็จสรรพก่อนไปหาซื้อปลา จะได้ไม่เผลอซื้อมาเยอะเกิน

การคิดก็ไม่ยากหรอกครับ เช่นถ้าจะเลี้ยงปลาขนาดเล็ก ๆ เป็นฝูง ๆ ยกตัวอย่างพวกปลาในกลุ่มเตตร้า กลุ่มซิวแคระ ก็ใช้สูตรปลา 1 ซ.ม. ต่อน้ำ 1 ลิตร เวลาคิดจริง ๆ ก็เอาปริมาตรของน้ำในตู้ หารด้วยขนาดเมื่อโตเต็มที่ของปลาที่เลี้ยง (maximum size) 1 ตัว ก็จะได้จำนวนของปลาที่สามารถเลี้ยงได้ ดังนี้ครับ



จำนวนปลา=(ปริมาตรน้ำในตู้ (ลิตร))/(ขนาดของปลา (ซ.ม.))

เช่นน้ำ 100 ลิตร สามารถเลี้ยงปลาคาร์ดินัลเตตร้าที่มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ 5 ซ.ม. ได้ 20 ตัว เป็นต้น



สูตรการคำนวณปริมาตรน้ำในตู้ปลา



ปริมาตรน้ำ (ลิตร)=(กว้าง x ยาว x สูง)/1000



กรณีปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา เช่นปลาทอง ก็สามารถคำนวณง่าย ๆ ว่าปลา 1 ตัวต้องการน้ำอย่างน้อย 35 ลิตร ถ้าตู้จุน้ำ 100 ลิตรก็สามารถเลี้ยงได้ 3 ตัว ถ้าต้องการเลี้ยงปลาทอง 9 ตัวให้อยู่อย่างสบาย ๆ ดูแลง่าย ก็ต้องเลี้ยงในตู้ที่มีความจุน้ำ 315 ลิตร



จำนวนปลาทอง=(ปริมาตรน้ำในตู้ (ลิตร))/35





ทว่าในความเป็นจริงเราอาจใช้สูตรนี้ไม่สะดวกนัก เพราะประการแรก ปลาที่เลี้ยงแบบรวมจะมีขนาดเมื่อโตเต็มที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ยิ่งตู้ที่เลี้ยงคละเป็นสหประชาชาติคงปวดหัวตึบหาเครื่องคิดเลขมาดีดกันวุ่นวาย และประการที่สอง หากใช้สูตรนี้จริง การเลี้ยงปลาในระยะแรกตู้คงดูโหรงเหรง เนื่องจากธรรมชาติของคนเลี้ยงปลามักไม่ซื้อปลาที่โตแล้วมาเลี้ยง จะเลี้ยงกันตั้งแต่ลูกปลาเพื่อจะได้เห็นได้ดูการเจริญเติบโตของพวกมันมากกว่า แต่ถ้าเป็นไปได้ การคำนวณเพื่อให้รู้ขีดความสามารถในการรองรับจำนวนปลาของตู้ที่เรามีอยู่ ก็ทำให้การเลี้ยงเป็นไปได้ง่ายขึ้น สบายขึ้น รู้ว่าควรจะหาซื้อปลามาเลี้ยงได้สักกี่ตัว อาจใส่เกินจำนวนได้นิดหน่อย แต่ก็อย่าให้มันเว่อร์เกินไปนัก

ตามร้านขายปลา เรามักเห็นปลาในตู้ว่ายกันพล่าน บางตู้จุน้ำไม่ถึงร้อยลิตร อัดปลาหางนกยูงเข้าไปเป็นร้อยตัว สภาพน้ำก็ยังเห็นใสดี สิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่น่าจะต้องเห็นกลับมีไม่มากอย่างที่ควร นั่นก็เพราะร้านขายปลาเขามีการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำกันแทบทุกวันครับ บางร้านที่ลงปลาหนาแน่นเกินขีดจำกัดปลาก็มีปัญหาป่วยตายเหมือนกัน ผมเคยเห็นร้านขายปลาบางร้าน เจ้าของต้องเก็บศพปลาตามตู้เสียก่อนเป็นอันดับแรกก่อนเปิดร้าน พอลูกค้ามาดูก็รับประกันแข็งแรงว่าปลาร้านผมสุขภาพดีทุกตัว (เพราะตัวที่สุขภาพไม่ดีมันอำลาโลกไปแล้วไง)

คนที่เลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรกคงไม่อยากเพิ่มภาระให้ตัวเองโดยการต้องมาเปลี่ยนถ่ายน้ำปลาทุกวัน หรือวันเว้นวันหรอกครับ (ยกเว้นคนที่เอาจริงเอาจังเป็นพิเศษ เรียกว่าประเภทฮาร์ดคอร์) ส่วนมากก็อยากนั่งดูปลาหลังกลับจากทำงานหรือกลับจากเรียน ได้พักผ่อนสมองด้วยการดูปลาแหวกว่ายในน้ำใสแจ๋วอย่างผ่อนคลาย เลี้ยงปลาด้วยจำนวนที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลาก็มีความสุข คนเลี้ยงก็มีความสุข (และไม่เหนื่อย) ส่วนคนที่เลี้ยงโดยขาดหลักการ โหมซื้อปลามาจนแน่นตู้ ปลาป่วยตายก็หามาเพิ่มไม่ยอมหยุด อย่างนี้คงต้องเหนื่อยหน่อยครับถ้าจะให้น้ำในตู้ใสสะอาด

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

น้ำในตู้ปลาใสได้อย่างไร ตอนที่ 1

เคยสังเกตในตู้ปลาที่บ้านตัวเองบ้างไหมครับ ว่าทำไมน้ำไม่ใสสะอาด ดูเป็นฝ้าขุ่นบ้าง ดูมีฝุ่นตะกอนฟุ้งไปฟุ้งมาบ้าง ทั้งที่ก็เปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เป็นประจำ ไปถามตามร้านขายปลาว่าควรทำอย่างไร พวกก็แนะนำยานู่นยานี่มาเป็นหอบใหญ่ ทั้งยาฆ่าคลอรีน ยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าพยาธิ มาลาไคท์กรีน เกลือ ยาทำน้ำใส ฯลฯ อ้างว่าต้องใส่หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำ จะทำให้น้ำนั้นทั้งใสทั้งสะอาดและปราศจากเชื้อโรคมาแผ้วพาน อุตส่าห์ทำตามเขาว่าอยู่พักใหญ่ น้ำก็ไม่เห็นจะใสขึ้นกว่าเดิมสักกี่มากน้อย เสียทั้งอารมณ์และสตางค์ จนหลายคนเบื่อแทบอยากเลิกเลี้ยงปลาไปเลย


ความจริงแล้วการทำให้น้ำในตู้ปลาใสสะอาดนั้นไม่ยากเลย แถมยังไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อน้ำยาสารพัดมาเติมหลังเปลี่ยนถ่ายน้ำด้วย ขอแค่ทำความเข้าใจในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ คุณ ๆ ก็จะมีตู้ปลาที่น้ำใสแจ๋วดังวอดก้าสเมอร์นอฟไว้เชยชมสมใจครับ

องค์ประกอบที่ทำให้น้ำในตู้ปลาใสมีดังนี้

1 ระบบกรองดี

2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

3 ให้อาหารพอสมควร

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ



เริ่มเลยนะครับ 1 ระบบกรองดี

ระบบกรองน้ำในตู้ปลาให้ประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ช่วยดักเก็บฝุ่นตะกอนที่ลอยฟุ้ง ช่วยลดความเป็นพิษในน้ำอันเกิดจากขี้ปลาและเศษอาหารที่ตกค้าง และช่วยยืดระยะเวลาของการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้นานกว่าเดิม ตู้ปลาที่ไม่มีระบบกรอง (มีแต่ฟองอากาศให้ออกซิเจน) น้ำจะสะอาดอยู่ได้ไม่กี่วัน เผลอ ๆ อาจจะไม่กี่ชั่วโมงด้วยซ้ำหากว่าเลี้ยงปลาหนาแน่น เมื่อปลาขับถ่ายออกมาก็กลายเป็นของเสียกลิ้งไปมาตามพื้นตู้ ที่แตกยุ่ยเป็นผงก็ลอยคว้างเกะกะลูกตา ของเสียทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย สีของน้ำจะขุ่น คุณภาพน้ำเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างด่วนปลาก็อาจจะตายได้จากพิษของบรรดาของเสียที่ว่ามานี้

ระบบกรองน้ำในตู้ปลามีหลักการทำงานง่าย ๆ คือทำให้น้ำเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อดักเก็บตะกอนกายภาพไม่ให้ลอยฟุ้งและบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแอมโมเนียให้มีคุณภาพดีขึ้น ระบบกรองที่ดีมักเป็นระบบกรองชีวภาพ (Biological Filter) คือใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของแบคทีเรียที่มีศักยภาพในการย่อยสลายแอมโมเนียซึ่งมีความเป็นพิษมาก ให้กลายเป็นไนไตรท์ที่มีความเป็นพิษน้อยกว่า และจากไนไตรท์ก็ย่อยให้กลายเป็นไนเตรทซึ่งมีความเป็นพิษต่ำสุด ในระบบกรองนอกจากจะมีแผ่นใยสังเคราะห์สำหรับดักจับตะกอนกายภาพแล้ว ยังจะต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับใส่วัสดุเพาะเชื้อ หรือตัวกลาง (Media Filter) ให้แบคทีเรียชนิดดีมาอยู่อาศัย ยิ่งมีแบคทีเรียชนิดดีมากก็จะยิ่งบำบัดน้ำเสียได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมใส่ยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้แล้วน้ำก็ไม่ใสเสียที นั่นก็เพราะยาที่ว่ามันไปฆ่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์หมดนั่นเอง

ปัจจุบันมีผู้คิดค้นเครื่องกรองน้ำในตู้ปลาออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่นกรองแผ่นใต้พื้นกรวด (Undergravel Filter) กรองกระป๋อง (Corner Filter) กรองโฟม (Sponge Filter) กรองข้างตู้ (Internal Filter) กรองนอกตู้ (External Filter หรือ Canister Filter) กรองแขวน (Hang On Filter) จะเลือกใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับขนาดของตู้และความต้องการของผู้เลี้ยงครับ เช่นเอาง่ายหน่อยก็เลือกกรองกระป๋อง กรองโฟม ซึ่งมีขนาดเล็ก ราคาถูกและติดตั้งง่าย ใช้ปั๊มลมเป็นเครื่องกำเนิดพลังงาน ทำให้น้ำค่อย ๆ เคลื่อนตัวผ่านกรองที่มีใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ (โฟม) ฝุ่นตะกอนจะถูกดักไว้และแบคทีเรียที่สามารถอาศัยได้ในเนื้อใยสังเคราะห์ (ไม่มากนัก) ก็จะช่วยบำบัดน้ำอีกชั้นหนึ่ง กรองแบบนี้โดยมากมักใช้กับตู้ขนาดเล็ก มีข้อเสียคือต้องเอาออกมาซักล้างบ่อยมากและมีประสิทธิภาพต่ำ ถ้าใช้กับตู้ใหญ่หรือตู้ที่เลี้ยงปลาหนาแน่นก็จะดูไม่ได้ผลนัก

กรองใต้กรวด (Undergravel Filter) มีลักษณะเป็นแผ่นตะแกรงพลาสติกยกพื้นสูงสักสองเซนติเมตร วางคว่ำลงกับพื้นตู้แล้วปูกรวดทับจะเกิดช่องว่างข้างใต้ มุมหนึ่งของแผ่นกรองจะมีท่อยกสูง ฐานของท่อมีช่องเสียบสายออกซิเจน หลักการทำงานคือใช้ปั๊มลม อัดลมลงไปตรงฐานของท่อ อากาศจะหาทางออกมาคือปากท่อที่ยกสูงนั้น น้ำจะเกิดการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ผ่านชั้นกรวดลงมาและวนออกทางท่อด้วยเช่นกันทำให้เกิดการไหลเวียน ฝุ่นตะกอนของเสียจะตกลงข้างล่างและถูกชั้นกรวดซับเอาไว้ไม่ให้กลับไปสร้างความปั่นป่วน ส่วนในชั้นกรวดเองก็จะมีแบคทีเรียชนิดดีมาอยู่อาศัยคอยบำบัดให้น้ำเสียเป็นน้ำที่ดีขึ้น กรองแบบนี้เป็นกรองที่ใช้กันมานมนาน จนปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ทว่าโดยมากใช้กับตู้ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่เลี้ยงปลาไม่หนาแน่นนัก ข้อดีคือราคาถูก ใช้งานได้เยี่ยมในระดับหนึ่ง ข้อเสียคือต้องคอยไซฟอนชั้นกรวดให้บ่อย และไม่สามารถใช้ได้กับบรรดาปลานักขุดทั้งหลาย เช่นปลาหมอสีและปลาแคทฟิชหลายชนิด

กรองใต้กรวด
 ระบบกรองที่ดีขึ้นมาและได้รับความนิยมมากที่สุดขณะนี้คือกรองในตู้ (Internal Filter) เป็นกรองที่ใช้วิธีกั้นมุมหนึ่งของตู้ให้เป็นพื้นที่ของระบบกรอง ใช้ปั๊มน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนให้น้ำไหลเวียนเข้าระบบ ผ่านชั้นใยสังเคราะห์ ชั้นวัสดุเพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดดี ก่อนจะถูกส่งกลับเข้าไปในตู้หลักอีกครั้ง กรองแบบนี้มีประสิทธิภาพมาก สามารถใช้กับตู้ปลาได้แทบทุกขนาด แต่มีข้อเสียคือทำให้ลดพื้นที่ภายในตู้ปลา ทำให้ทัศนวิสัยในการมองปลาไม่งดงามนัก และดูแลทำความสะอาดค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าเป็นตู้ใหญ่ ๆ ที่มีระดับความสูงมาก การล้วงลงไปเอาวัสดุกรองต่าง ๆ ออกมาล้างอาจจะไม่สะดวกนัก


กรองแขวน (Hang On Filter) ก็เป็นอีกระบบที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีขนาดเล็กกะทัดรัด ใช้ง่ายและดูเท่สวยงาม เกาะอยู่ขอบตู้ด้านนอกยื่นลงไปเพียงท่อใสเพื่อดูดเอาน้ำในตำแหน่งต่ำสุดของตู้ขึ้นมาบำบัดและส่งกลับลงไปในลักษณะเหมือนม่านน้ำตก ทำให้การไหลเวียนในน้ำดีมาก ทัศนวิสัยในตู้ดูไม่รกตา แต่ก็มีข้อเสียคือกรองได้แต่ตะกอนของเสียกายภาพ ส่วนการเพาะแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยบำบัดน้ำทำได้น้อยมาก จึงใช้ได้กับเฉพาะตู้ขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น

กรองนอกตู้ (External Filter หรือ Canister Filter) เป็นระบบกรองที่ได้รับความนิยมสำหรับนักเลี้ยงที่มีทุนทรัพย์ขึ้นมาอีกสักหน่อย จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้กรองนอกตู้ไม่แพงเหมือนสมัยก่อนเพราะผลิตโดยประเทศจีน แต่ก็ยังถือว่าราคาสูงอยู่ดีหากเทียบกับกรองระบบอื่น ๆ ที่กล่าวมา


กรองนอกตู้

กรองนอกตู้มีลักษณะเหมือนปิ่นโตสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ ข้างในเป็นช่องว่างบรรจุถาดที่สามารถวางซ้อนกันได้ 2-3 ถาด แต่ละถาดใช้บรรจุวัสดุกรอง อาทิ ฟองน้ำ ใยสังเคราะห์ วัสดุเพาะเชื้อ แอคติเวทเต็ทคาร์บอน พลังงานขับเคลื่อนอยู่ที่ตัวปั๊มที่ติดตั้งไว้ส่วนบนของถังกรอง ติดตั้งกรองไว้ต่ำกว่าตู้ มีสายยาง 2 สายเชื่อมต่อระหว่างกัน สายหนึ่งน้ำเข้า อีกสายน้ำออก หลักการทำงานคือปล่อยให้น้ำในตู้ไหลลงมาในระบบ น้ำจะไหลผ่านชั้นกรองต่าง ๆ ทั้งกายภาพและชีวภาพ ขั้นตอนสุดท้ายปั๊มที่อยู่ส่วนบนจะดูดน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วกลับสู่ตู้ด้านบน ระบบกรองนอกตู้นี้มีประสิทธิภาพสูงมากและสะดวกเวลาถอดล้างทำความสะอาด อีกทั้งยังไม่ทำให้ทัศนวิสัยในตู้ดูขี้เหร่ เหมาะกับตู้ปลาขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ข้อเสียคืออย่างที่บอก ราคาสูงหน่อย (แต่คุ้ม) ติดตั้งค่อนข้างยาก (สำหรับคนเคยใช้ครั้งแรก)

เรื่องระบบกรองอย่างเดียวก็ปาเข้าไปหมดโควตา คราวหน้ามาว่ากันต่ออีก 3 ข้อที่เหลือนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โรคจุดขาว แขกประจำยามฤดูหนาว ( วิธีรักษา)

เชื้อโปรโตซัวจุดขาวมีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติเช่นห้วย หนอง คลอง บึง ในบ่อปลาภายในบ้าน หรืออ่างบัวเล็ก ๆ ก็มีเชื้อจุดขาวเช่นกัน ส่วนตู้ปลานั้นไม่ต้องพูดถึง ต่อให้ล้างทำความสะอาดอย่างไร ประเคนน้ำยาสารพัดขนาดไหน น้ำในตู้ของท่านก็ยังต้องมีเชื้อโปรโตซัวเหล่านี้รวมทั้งแบคทีเรีย เชื้อราอะไรต่อมิอะไรอีกหลายเผ่าพันธุ์แฝงตัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มันจะหาเหตุก่อการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจปลาในตู้ท่านได้ก็ต่อเมื่อปลาที่เลี้ยงมีความอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพของสุขภาพร่างกาย เรียกได้ว่าแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปลาของท่านก็จะติดเชื้อประเภทต่าง ๆ ได้ทันที
                โรคปลามีหลายโรค แต่ช่างหัวมันก่อนเพราะในตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องโรคจุดขาว ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงฤดูหนาวของทุก ๆ ปี
                วงจรชีวิตของโปรโตซัวชนิดนี้สั้น แต่ขยายพันธุ์เร็วมากด้วยวิธีการแบ่งตัวแบบทวีคูณ ในขั้นแรกเชื้อนี้จะเข้าสู่ตัวปลาที่อ่อนแอโดยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผิวหนัง เกล็ด ครีบและภายในเหงือกปลา แผลที่ถูกกัดจะทำให้ปลาระคายเคืองและอักเสบ เมื่ออิ่มหนำได้ที่ดีเจ้าเชื้อจุดขาวที่เริ่มอวบอ้วนก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้น หาแหล่งกบดานเช่นกรวด ขอนไม้ ผนังข้างตู้ หรือแม้ภายในระบบกรอง จากนั้นก็เริ่มกระบวนการแบ่งตัว จากเชื้อแค่ตัวเดียวมันสามารถแยกร่างออกได้เป็นพัน ๆ  เชื้อที่เกิดใหม่แสนหิวโหยก็จะกรูขึ้นไปหาแหล่งอาหาร ซึ่งก็คือปลาเคราะห์ร้ายของเรา อิ่มแล้วก็ทิ้งตัวลง แบ่งตัวเพิ่ม แล้วขึ้นไปกินโต๊ะจีนใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนปลาทยอยตายเกลี้ยงตู้
                สังเกตอย่างไรว่าปลาติดโรคจุดขาวแล้ว
                ดูจากพฤติกรรมปลาในตู้ หากเห็นว่าผิดไปจากเดิมเช่นที่เคยว่ายน้ำตลอดเวลากลับกลายเป็นซึม แอบนิ่งข้างตู้หรือลอยคอผิวน้ำ หรือปลาที่ปรกติอยู่นิ่ง ๆ (เช่นพวกปลาในกลุ่มแคทฟิช) กลับกลายเป็นลอกแลก กระวนกระวาย คอยว่ายเอาข้างเข้าถูเหมือนคนไร้เหตุผล หรือออกอาการทางจิตประสาทเช่นว่ายวนเป็นวงกลมตลอดเวลา อย่างนี้ให้สงสัยได้เลยว่าอาจเป็นโรคจุดขาวเข้าให้แล้ว
                จากสังเกตแบบรวม ๆ จนจับได้ถึงความผิดปรกติ ขั้นต่อไปก็โฟกัสไปยังปลาที่สันนิษฐานว่าป่วย มองอย่างใกล้ชิด หากเป็นโรคจุดขาวก็จะได้เห็นเม็ดสีขาวเล็ก ๆ คล้ายผงเกลือป่นจับติดตามครีบและผิวปลา ถ้าปลายังเป็นไม่มากอาจพบเพียงเล็กน้อย แต่ก็อย่าชะล่าใจรอให้มันเป็นมากกว่านี้แล้วค่อยรักษา โรคจุดขาวนั้นไม่ใช่โรครักษายากก็จริง แต่ถ้าปล่อยให้เป็นเยอะเปอร์เซ็นต์การรอดของปลาก็จะน้อยลง เพราะร่างกายของมันจะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วด้วยการทวีคูณของจำนวนเชื้อโปรโตซัวบนตัวมัน
                การรักษา
            ก่อนอื่นควรแยกปลาที่มีอาการมากออกจากปลาที่มีอาการน้อยหรือยังไม่แสดงอาการ นอกเสียจากว่าดู ๆ แล้วมันเป็นพอ ๆ กันก็ใช้วิธีรักษารวม
                ตู้รักษาโรคปลาควรเป็นตู้กระจกโล่ง ไม่ต้องปูกรวด สามารถจุน้ำได้อย่างน้อย 50 ลิตร (หรือน้อยกว่านั้นก็พอไหวแต่อย่าให้เล็กเกินไปนัก) มีกรองโฟมหรือกรองฟองน้ำสักหนึ่งตัวเพื่อรักษาสภาพน้ำและเพิ่มออกซิเจน ใส่วัสดุประเภทดินเผาหรือขอนไม้เพื่อให้ปลาหลบซ่อนลดความเครียด และถ้าเป็นไปได้ การใส่ฮีทเตอร์เพื่อปรับอุณหภูมิให้คงที่ที่ 30 องศาเซลเซียส จะทำให้การรักษาโรคจุดขาวมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
                บางท่านไม่สะดวกย้ายปลาก็อาจรักษาในตู้เลี้ยงนั้นเลยก็ได้ แต่อาจไม่ได้ผลรวดเร็วเท่า เพราะตู้เลี้ยงมักมีกรวดรองพื้น มีวัสดุตกแต่งที่จุดขาวใช้เป็นที่พักหลบซ่อนระหว่างการขยายตัว มีระบบกรองที่ดูดซับตัวยาทำให้การทำลายเชื้อของยาอ่อนลง
                ยารักษาโรคจุดขาวส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารเคมีที่ชื่อมาลาไคท์กรีนและฟอร์มาลิน สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามตามบ้านทั่ว ๆ ไปไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อสารเคมีดังกล่าวตามร้านเคมีภัณฑ์ให้วุ่นวาย แค่ร้านขายปลาก็มียาประเภทนี้ขายมากมายหลายยี่ห้อ ราคาก็ไม่แพงแถมยังใช้งานง่ายกว่าเพราะออกแบบมาสำหรับใช้กับปลาจำนวนน้อย ๆ อยู่แล้ว วิธีและปริมาณการใช้ก็อ่านจากฉลากข้างขวดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ยายี่ห้อที่ได้มาตรฐานมักมีคำเตือนว่าปลาบางชนิดแพ้สารเคมีนี้ เช่นปลาแคทฟิชทุกชนิด ปลาหมู ปลาอะโรวาน่า ปลาเสือตอปลาในกลุ่มเตตร้าทุกชนิด เป็นต้น (หากไม่มีคำเตือนดังกล่าวก็อนุมานได้ว่าเป็นยาค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานหรือผลิตกันเองตามบ้าน)
                หากปลาที่เลี้ยงเป็นปลาทั่วไปเช่นปลาทอง ปลาเทวดา ปลาหมอสี ฯลฯ การใช้ยาก็สามารถใช้ได้เต็มที่ตามวิธีใช้ แต่หากต้องการจะใช้รักษาปลาชนิดที่แพ้สารมาลาไคท์กรีนก็ต้องลดปริมาณตัวยาลงครึ่งหนึ่ง การใช้ยาต้องระมัดระวังอย่าให้ถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เนื่องจากสารเคมีนี้มีพิษ เป็นสารก่อมะเร็ง แม้กระทั่งการใช้กับปลาก็ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกินไป
                เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันโดยใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีนและมีอุณหภูมิเท่ากับน้ำในตู้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำนอกจากจะช่วยกำจัดตัวอ่อนของเชื้อจุดขาวไปบางส่วนแล้วยังช่วยให้ปลาสดชื่นจากน้ำใหม่ ๆ อีกด้วย ไม่ควรเปลี่ยนน้ำมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และหลังจากเปลี่ยนน้ำก็ใส่ยาเพิ่มลงไปเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณยาเพื่อให้ความเข้มข้นคงเดิม
                การใช้ฮีทเตอร์ ควรปรับอุณหภูมิของฮีทเตอร์ไว้ที่ 30 องศาเซลเซียสและเทียบอุณหภูมิของน้ำด้วยเทอร์โมมิเตอร์อีกตัวหนึ่ง เนื่องจากฮีทเตอร์ที่มีขายตามท้องตลาดส่วนมากไม่ค่อยตรง เช่นตั้งไว้ที่ 30 องศาแต่ความเป็นจริงอาจสูงเกินไปที่ 32 องศา จุดขาวมีการเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในน้ำอุณหภูมิต่ำ การปรับให้อุณหภูมิน้ำคงที่อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสจะทำให้เชื้อจุดขาวในระยะตัวอ่อนอ่อนแอและมีอายุสั้นลง ยาจะใช้ได้ผลดีมากในช่วงเวลานี้
                ปลาที่โดนเชื้อจุดขาวเล่นงานมักมีอาการอักเสบต่อเนื่องด้วยการติดเชื้อจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ  ดังนั้นอาจใช้ยาปฎิชีวนะร่วมด้วยเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าว ยาปฎิชีวนะสำหรับรักษาปลาสวยงามก็มีขายตามร้านปลาสวยงามอีกนั่นแหละ แต่ก็สามารถใช้ยาคนได้เช่นกัน เช่นแอมม็อคซี่ซิลิน เตตร้าซัยคลิน ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อัตราส่วนการใช้คือ 25 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้งก็ใส่ยาปฎิชีวนะเพิ่มตามปริมาณน้ำที่เติมเข้าไปใหม่เช่นกัน
                ในช่วงอากาศหนาวเย็นปลาจะอ่อนแอกว่าปรกติ ควรลดปริมาณอาหารลงและหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำทำความสะอาดตู้ให้บ่อยขึ้น ระวังอุณหภูมิของน้ำที่นำมาเปลี่ยนถ่าย หากต่างกับน้ำเดิมมากเกินไปก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ปลาเป็นโรคจุดขาวง่ายขึ้น สำหรับปลาที่เริ่มมีอาการซึม เบื่ออาหาร ครีบหางลู่ตก ให้รีบแยกออกมาทันทีเพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป การนำปลาจากแหล่งอื่นมาใส่รวมกับปลาเดิมในตู้ก็ต้องระมัดระวัง ต้องมั่นใจว่าปลานั้นสุขภาพแข็งแรงดี ไม่อยู่ในตู้ที่มีสภาพน้ำแย่มาก่อน จะให้แน่ใจควรแยกเลี้ยงปลานั้นต่างหากไว้ก่อนสักหนึ่งสัปดาห์ หากไม่มีอาการใดผิดปรกติจึงค่อยนำมาเลี้ยงรวม
ปลาแพะป่วยเป็นโรคจุดขาว

บทความโดย          พิชิต             ไทยยืนวงษ์