Our Fish

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เดนิสันอาย ตะเพียนหน้าแดงอินเดีย



 ในบรรดาคนนิยมชมชอบตู้พรรณไม้น้ำ ไม่มีใครไม่รู้จักปลาตะเพียนหน้าแดง
                ปลาตะเพียนหน้าแดงเป็นปลาขนาดปานกลาง มีแหล่งอาศัยในแม่น้ำทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 15 ซ.ม. ตัวผู้ตัวเมียขนาดเท่ากันจึงทำให้การดูเพศเป็นไปแทบไม่ได้ ลักษณะรูปร่างของตะเพียนหน้าแดงคล้ายกับปลาหางไหม้ (Balantiocheilos melanopterus) คือลำตัวยาวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวเรียวแหลม ปากเล็ก ครีบกระโดงหลังสูงตั้งชันคล้ายครีบของปลาฉลาม
                สิ่งที่ทำให้ตะเพียนหน้าแดงดูโดดเด่นกว่าปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (Family Cyprinidae) ชนิดอื่นคือสีสันของมัน ในขณะที่ปลาตะเพียนทั่วไปมักมีลำตัวสีเงินอมเทาหรือบางชนิดก็เป็นเพียงเหลืองอมทอง แต่ตะเพียนหน้าแดงกลับพิเศษกว่านั้นคือนอกจากสีพื้นลำตัวจะเป็นสีเงินวาวเงางามแล้ว ยังมีเส้นดำพาดจากมุมปาก ผ่านดวงตาวิ่งยาวกลางลำตัวไปสิ้นสุดที่เกล็ดสุดท้ายของโคนหางโดยมีแถบสีแดงซึ่งแดงสดจริง ๆ วิ่งขนานคู่กันเหนือขึ้นไปเล็กน้อย จากปากยาวไปจนถึงกึ่งกลางลำตัว เส้นนี้เองทำให้มันกลายเป็นปลาที่ได้รับการยกย่องกันว่าสวยงามอย่างมากและมีนักเลี้ยงปลาทั่วโลกหมายปองอยากนำไปเลี้ยงไว้ในตู้ของตน
                นอกเหนือจากเส้นสีดำและแดงที่กล่าวมาแล้ว ตะเพียนหน้าแดงยังมีจุดที่สวยงามอื่น ๆ อีกเช่นครีบกระโดงหลังที่มีสันครีบเป็นสีแดงสดแล้วค่อย ๆ จางไล่มาอย่างมีศิลปะ กับครีบหางที่บางใสตรงกลางสลับด้วยสีดำและเหลืองทองทั้งล่างและบน ดูราวกับว่าเป็นปลาที่เกิดจากฝีมือรังสรรค์ของจิตรกรเอกมากกว่าจะถือกำเนิดมาจากธรรมชาติที่เป็นเพียงลำธารไหลเอื่อยสีขุ่น
ปลาตะเพียนหน้าแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntius denisonii นักเลี้ยงปลารุ่นใหม่จึงมักเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า เดนิสัน แต่ชื่อที่คุ้นปากกันก็ยังคงเป็นปลาตะเพียนหน้าแดงอยู่นั่นเอง ในวงการมีนวิทยา ปลาชนิดนี้ถูกพบและนำมาศึกษาวิจัยเป็นร้อยปีแล้ว แต่กว่าโลกจะได้รู้จักปลาแสนสวยชนิดนี้ก็ต้องใช้เวลาอีกนานหลายสิบปี ในเมืองไทยเอง ตะเพียนหน้าแดงเพิ่งถูกนำเข้ามาสร้างสีสันให้วงการเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จัดได้ว่าเป็นปลาราคาสูงและมีปริมาณน้อยจริง ๆ
ในธรรมชาติ ตะเพียนหน้าแดงอาศัยในลำธารหรือแม่น้ำที่ไหลเอื่อย ๆ ตามเชิงเขาทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย สภาพน้ำคล้ายกับบ้านเราคือไม่ใสมากนัก มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ราว ๆ 6.5 และแทบไม่มีความกระด้างเลย พวกมันจะว่ายทวนน้ำในระดับความลึกปานกลางเพื่อจับเอาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ ที่ลอยมาตามน้ำกินเป็นอาหาร ตะเพียนหน้าแดงกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ เศษซากต้นไม้ใบไม้ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกปลาขนาดจิ๋ว ฯลฯ 
การเลี้ยง
ตะเพียนหน้าแดงไม่ใช่ปลาเล็ก ฉะนั้นจึงควรเลี้ยงในตู้ขนาด 36 นิ้วขึ้นไป แต่จะดีมากถ้าเป็นตู้ใหญ่กว่านั้นและติดตั้งปั๊มน้ำสร้างบรรยากาศให้คล้ายคลึงกับสภาพน้ำของลำธารที่มีกระแสน้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา การจัดตกแต่งตู้ควรเน้นให้มีพื้นที่ส่วนหน้าสำหรับให้ปลาว่ายน้ำ อย่าวางสิ่งรบกวนเช่นขอนไม้ที่มีกิ่งก้านระเกะระกะ ซึ่งปลาอาจต้องคอยว่ายหลบหลีกทำให้มันเครียด หากชอบประดับตู้ด้วยขอนไม้ประเภทนั้นควรจัดวางให้เลยแนวกลางของตู้ค่อนไปทางด้านหลังจะดีกว่า
ปลาตะเพียนหน้าแดงกินพืชด้วยก็จริง ทว่าในตู้ต้นไม้น้ำพวกมันกลับไม่ใช่นักทำลายล้างอย่างปลาตะเพียนชนิดอื่น ๆ  อาจเป็นไปได้ว่าในธรรมชาติมันจำเป็นต้องกินทุกอย่างตามแต่จะพบเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ในตู้เลี้ยงซึ่งมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และเป็นเวลาแน่นอน ปลาจึงไม่จำเป็นต้องหาอาหารอื่นนอกจากรอเวลาให้คนมาหยิบยื่นให้นั่นเอง นี่จึงทำให้ปลาตะเพียนหน้าแดงได้รับความนิยมถูกนำมาเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำโดยเฉพาะในปลาวัยเด็ก
การจัดตู้ หากไม่ใช่ตู้พรรณไม้น้ำเต็มรูปแบบแล้ว การจัดตู้สำหรับเลี้ยงปลาตะเพียนหน้าแดงก็ถือว่าง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อนเลยสักนิดเดียว แค่มีตู้ขนาดปานกลางหรือขนาดใหญ่หน่อยสักใบหนึ่ง มีระบบกรองข้างตู้ที่ใช้ปั๊มน้ำสร้างการหมุนเวียน ปูพื้นตู้ด้วยกรวดแม่น้ำ หลีกเลี่ยงทรายทะเลหรือหินปะการังซึ่งจะทำให้น้ำกระด้าง ตกแต่งด้วยขอนไม้ขนาดไม่ต้องใหญ่มากและพืชน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ  แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเลี้ยงตะเพียนหน้าแดงสักฝูงหนึ่ง
อาหารสำหรับตะเพียนหน้าแดงสามารถใช้ได้ทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป การให้ไม่ควรให้มากเกินไป อาจแบ่งให้เป็นสองสามมื้อ ๆ ละน้อย ๆ พอให้ปลากินหมดใน 2-3 นาที
ปลาที่เลี้ยงรวมกับตะเพียนหน้าแดงควรเป็นปลาที่มีนิสัยไม่ก้าวร้าว และจะให้ดีที่สุดควรเลือกปลาที่มีระดับการว่ายต่างกันเพราะจะเกิดความสวยงามเวลาดู ตัวอย่างปลาดังกล่าวก็มีเช่น ปลาหมอแคระอย่างแรมเจ็ดสี (Microgeophagus ramirezi) ปลาหมอแรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosus) ปลาหมู (Botia spp.) ปลาแพะ (Corydoras spp.) แต่ถ้าเลี้ยงปลาที่ว่ายน้ำระดับเดียวกับตะเพียนหน้าแดง มันจะทำให้ดูยุ่งเหยิงกันไปหมด แทนที่จะสบายตาคนดูอาจเวียนศีรษะแทน
ข้อควรระวังในการเลี้ยงคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน โดยเฉพาะในช่วยฤดูฝน ซึ่งจะทำให้ปลาอ่อนแอติดโรคได้ง่าย ในช่วงฤดูดังกล่าวควรสังเกตสภาพภูมิอากาศ หากมีทีท่าว่าจะมีฝนตกหนักควรงดอาหารและอาจเปลี่ยนถ่ายน้ำเล็กน้อย
ยังไม่ปรากฏหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราวสำหรับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ แต่ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าตะเพียนหน้าแดงสามารถเพาะพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยง ประเทศที่สามารถเพาะพันธุ์ส่งออกได้เป็นจำนวนพอสมควรคือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีเพราะปลาตะเพียนหน้าแดงในธรรมชาตินั้นลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาจเป็นไปได้ว่าถ้าไม่มีการป้องกันแก้ไขเสียแต่ตอนนี้ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าปลาตะเพียนหน้าแดงจากธรรมชาติอาจสูญพันธุ์จากไปไม่มีวันกลับคืน
ผมไม่แน่ใจว่านักเพาะพันธุ์ปลาในเมืองไทยสามารถเพาะตะเพียนหน้าแดงได้บ้างหรือยัง ถ้ายังก็รีบ ๆ เข้าเพราะเชื่อมือคนไทยว่าในเรื่องปลาสวยงามแล้วเราไม่เคยเป็นรองชาติใดในโลก แต่ถ้าเพาะออกมาได้แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย และหากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการขยายวงกว้าง เพื่อทำให้กลายเป็นปลาสวยงามสำหรับส่งออกต่อไป  
 บทความ                      พิชิต  ไทยยืนวงษ์
ภาพโดย                       สายพร มาพรหม

1 ความคิดเห็น:

jacielevaca กล่าวว่า...

Slots Casino | JTM Hub
Free online slots 성남 출장마사지 games from top providers at JTM. Choose 태백 출장안마 from more 강릉 출장안마 than 60 titles to enjoy. Play 하남 출장샵 in demo mode and read the 보령 출장안마 reviews.Max. Jackpot: 5,000x