Our Fish

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปลาทองไม่ได้ความจะสั้นซักหน่อย ตอนที่ 2



            การเลี้ยงปลาทองมักนิยมเลี้ยงกันในตู้กระจก รองลงไปคืออ่าง ส่วนบ่อขนาดใหญ่นั้นก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่มากนักเพราะคนมีบ่อใหญ่มักนิยมเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พหรือไม่ก็เป็นอะไรที่ใหญ่แบบไม่ธรรมดา (เช่นพวกปลาช่อนอเมซอน ปลาอัลลิเกเตอร์การ์ ซึ่งเป็นปลาขนาดยักษ์เป็นต้น)


1 ตู้กระจก
           ตู้กระจกสำหรับเลี้ยงปลาทองนั้นไม่แตกต่างกับตู้เลี้ยงปลาทั่วไป ผิดกันแต่ควรมีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ จุน้ำได้อย่างน้อยสัก 60-70 ลิตรขึ้นไปจะเป็นการดียิ่ง เพราะปลาทองเป็นปลารูปร่างใหญ่ โตเร็ว ต้องการพื้นที่ว่ายน้ำมาก


          ปลาทองหนึ่งตัวใช้น้ำอย่างน้อย 35 ลิตร ตู้มาตรฐานหน้ากว้าง 24 นิ้วจุน้ำได้ประมาณ 70 ลิตร ก็สามารถเลี้ยงปลาทองได้ 2 ตัว นักเลี้ยงส่วนใหญ่ชอบเลี้ยงปลาทองเป็นฝูงย่อม ๆ จึงควรเลือกตู้ให้มีขนาดเหมาะสมเพื่อให้ปลาอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุขครับ
          ระบบกรองน้ำก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปลาทองมีนิสัยกินเก่งและขับถ่ายของเสียในปริมาณมาก (การจำกัดอาหารเพื่อลดปริมาณของเสียก็เป็นทางแก้วิธีหนึ่ง แต่ก็จะมีผลทำให้ปลาขาดความสมบูรณ์) ตู้ปลาสมัยนี้มีระบบกรองที่ติดตั้งอยู่ภายในเสร็จสรรพ เป็นระบบกรองแบบชีวภาพที่อาศัยแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายเปลี่ยนสภาพน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี ควรเลือกตู้ที่มีระบบกรองใหญ่เพียงพอ หรืออาจใช้กรองแบบติดตั้งนอกตัวตู้ (External Filter) ก็ได้ในกรณีที่ไม่อยากเสียพื้นที่ภายในตู้
         ระบบกรองน้ำที่ดีดูได้จากเมื่อระบบเริ่มทำงาน การไหลเวียนของน้ำในตู้ต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่แรงหรือเบาเกินไป น้ำจากในตู้ไหลผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบกรองได้เต็มพื้นที่ไม่ใช่ไหลลงเป็นบางส่วน วัสดุสำหรับกรองน้ำมีหลัก ๆ 2 ส่วนคือส่วนที่กรองของเสียในรูปของฝุ่นตะกอน เศษอาหารตกค้าง เศษใบไม้ เมือกปลาและขี้ปลา กับอีกส่วนคือส่วนบำบัดซึ่งจะใช้วัสดุบางอย่างให้จุลินทรีย์มาอยู่อาศัยเพื่อให้จุลินทรีย์นั้นสร้างกระบวนการย่อยสลายของเสียที่มาในรูปของแอมโมเนียและไนไตรท์ น้ำที่ผ่านกระบวนการกรองทั้งสองแบบจะเป็นน้ำที่กลับมามีคุณภาพดีกว่าเดิม  ทว่าต้องไม่ลืมนะครับ ว่าระบบกรองสำหรับตู้ปลานั้นเทียบสัดส่วนกับตู้แล้วเล็กนิดเดียว เพราะจะทำให้ใหญ่โตก็ดูเทอะทะไม่สวยและกินพื้นที่ เพราะฉะนั้นมันจึงมีขีดจำกัดสำหรับการกรองน้ำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นครับ สิ่งที่จะช่วยได้ในขั้นต่อไปคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำออกบางส่วน ในระยะเวลาที่สม่ำเสมอไม่ทิ้งช่วงให้นานจนเกินไป ซึ่งโดยทั่วไปจะนิยมเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-25% สัปดาห์ละครั้ง

           การจัดตู้สำหรับเลี้ยงปลาทองไม่ยุ่งยาก
เนื่องจากปลาทองได้สูญเสียบุคลิกของปลาตามธรรมชาติไปแล้ว กลายเป็นปลาว่ายน้ำอุ้ยอ้ายเชื่องช้า และซุ่มซ่าม (ยกเว้นปลาทองบางสายพันธุ์ที่คงลักษณะใกล้เคียงบรรพบุรุษเดิมเช่นปลาทองโคเมทและชูบุงกิน) ดังนั้นการจัดตู้ปลาทองจึงยึดหลักเรียบง่ายให้พื้นที่ว่ายน้ำเยอะเข้าไว้ ควรปูพื้นด้วยกรวดที่ไม่มีความแหลมคม ขนาดของกรวดต้องไม่ใหญ่เกิน 5 มิลลิเมตร ประดับด้วยหินกลมเกลี้ยงในบางจุด หลีกเลี่ยงหินที่มีผิวสาก หยาบ หรือพวกขอนไม้กิ่งไม้ที่อาจจะมาจิ้มพุงปลาทองของเราได้ ส่วนต้นไม้นั้นสามารถนำมาปลูกได้เหมือนกันครับ แต่ต้องเลือกใช้ต้นที่มีความทนทานสักหน่อยเพราะปลาทองชอบแทะยอดอ่อน ๆ และชอบคุ้ยไปตามพื้นซึ่งอาจทำให้รากของต้นไม้เสียหาย


           ปลาทองต้องการวิตามินจากแสงแดด เมื่อได้รับในปริมาณที่พอเหมาะปลาจะมีผิวพรรณและสีสันสดสวยงามและมีความต้านทานโรคได้ดีกว่าปลาที่ถูกเลี้ยงในที่ร่มครึ้มตลอดเวลา แต่ทว่าการจะเอาตู้ปลาไปตั้งให้โดนแสงอาทิตย์นั้นคงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเหมาะนัก เนื่องจากแสงอาทิตย์นอกจากจะทำให้อุณหภูมิของน้ำในตู้ขึ้นสูงแล้วยังเป็นตัวเร่งให้เกิดตะไคร่น้ำเขียว ๆ มาเกาะแน่นตามผนังกระจกอีกด้วย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดูปลา จะขัดล้างทำความสะอาดแต่ละทีกลายเป็นงานใหญ่วุ่นกันไปทั้งบ้าน
ดีที่สุดสำหรับตู้ปลาคือใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับเลี้ยงปลา ตัวหลอดไฟติดตั้งพร้อมอยู่บนฝาหรือโคม เปิดต่อเนื่องกันไม่เกิน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ความเข้มข้นของแสงไม่เร่งให้เกิดตะไคร่ง่ายเหมือนแสงจากดวงอาทิตย์ ที่สำคัญคืออุณหภูมิสีของหลอดที่เหมาะสมจะทำให้สีของปลาสดเข้มได้อีกหลายขุมทีเดียว

2 อ่าง
          การเลี้ยงปลาทองในอ่างได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เพราะโดยปรกติตามบ้านคนที่พอจะมีพื้นที่สักหน่อยก็มักปลูกเลี้ยงต้นไม้จัดสวนหย่อมไว้ดูเพลิดเพลินตา อ่างดินเผาใบย่อม ๆ ดูกลมกลืนกับบริบทของสวน ยิ่งมีปลาเล็ก ๆ แหวกว่ายก็ยิ่งทำให้สวนนี้ดูมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น
อ่างที่เหมาะจะเลี้ยงปลาทองนั้นไม่ควรเล็กนัก ใช้หลักเดียวกับตู้ปลานั่นแหละครับคือปลาหนึ่งตัวต่อน้ำ 35 ลิตร วิธีการคำนวณปริมาตรน้ำในพื้นที่วงกลมคือ รัศมี x รัศมี x 3.14 x ความสูงของระดับน้ำ แล้วหารด้วย 1000 (ทั้งหมดใช้หน่วยวัดเป็นเซนติเมตร) ค่าที่ได้อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงนักเพราะรูปทรงของอ่างมักจะมีก้นสอบลงหรือไม่ก็ป่องกลาง แต่ก็สามารถใช้เป็นตัวช่วยคำนวณได้ในระดับหนึ่งครับ

          อ่างปลาจะได้เปรียบตู้กระจกก็ตรงที่สามารถรับแสงแดดได้โดยไม่ต้องไปกังวลกับปัญหาตะไคร่น้ำมาเกาะผนังอ่าง แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับแสงแรงเกินไปเพราะน้ำจะร้อน
ระบบกรองน้ำในอ่างมีให้เลือกหลายแบบ ที่ติดตั้งง่ายที่สุดคือระบบกรองพื้นฐานที่อาศัยปั๊มลมขนาดเล็กเป็นตัวผลักดันให้เกิดอากาศเคลื่อนลงไปในน้ำ เช่นกรองกระป๋อง กรองโฟม แต่กรองจำพวกนี้มีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำจึงต่ำ อาจเลือกใช้กรองนอก (External Filter) จะเหมาะสมกว่า ซึ่งเดี๋ยวนี้มีออกแบบเป็นถังพีวีซี ติดตั้งง่ายและทนแดดทนฝน ราคาก็ไม่แพงครับ
แต่หลายคนก็ไม่อยากให้มีอุปกรณ์ไฟฟ้ามาตั้งในบริเวณสวนเนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดอันตราย การเลี้ยงปลาทองในอ่างที่ปราศจากระบบกรองน้ำและระบบเพิ่มอากาศก็ยังสามารถทำได้ครับ (สมัยโบราณไม่มีไฟฟ้าใช้ยังเลี้ยงกันมาได้) แค่อย่าเลี้ยงปลาจำนวนมากในอ่างเดียวกัน (เปลี่ยนจากสูตร 1 ตัวต่อน้ำ 35 ลิตร เป็น 1 ตัวต่อน้ำ 100 ลิตร) ตั้งวางอ่างในบริเวณที่มีอากาศปลอดโปร่งมีลมพัดให้ผิวน้ำเคลื่อนตัว และควรปลูกพืชน้ำเช่นพวกต้นกก ต้นอเมซอน ต้นคล้าน้ำ เพื่อช่วยสร้างคุณภาพน้ำที่ดีและเพิ่มออกซิเจน ที่สำคัญต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ ในปริมาณแบบเดียวกับที่เลี้ยงในตู้กระจกครับ

3 บ่อ
            ไม่ค่อยเห็นคนเลี้ยงปลาทองในบ่อขนาดใหญ่ โดยมากบ่อปลาทองจะเล็กกะทัดรัด ลักษณะโดยรวมคล้าย ๆ อ่างนั่นแหละครับ เพียงแต่จุน้ำได้มากกว่าและอาจมีระบบกรองน้ำที่เข้าที่เข้าทางมากกว่า เพราะฉะนั้นการเลี้ยงจึงเป็นแบบเดียวกับอ่างนั่นเอง
(ต่อตอนหน้าครับ)

บทความโดย พิชิิต ไทยยืนวงษ์

ไม่มีความคิดเห็น: