Our Fish

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปลาทองไม่ได้ความจำสั้นซักหน่อย ตอนที่ 1


พิชิต ไทยยืนวงษ์

ปลาทองไม่ได้ความจะสั้นซักหน่อย   ตอนที่ 1
                ถ้าพูดกันถึงปลาสวยงาม คนส่วนใหญ่เป็นต้องนึกถึงปลาทองก่อนเป็นอันดับแรก นั่นเพราะปลาทองเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย มีสีสันสวยงาม มีรูปร่างหน้าตาน่ารักน่าชัง ราคาก็ไม่ได้แพงมากมายอะไร ใครก็ซื้อหามาเลี้ยงได้ไม่ยากเย็นนัก
                อ่านประวัติความเป็นมาของปลาทอง เขาเล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีสักพันกว่าปีก่อน ปลาทองป็นปลาพื้นเมืองในประเทศจีน อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไปและไม่ได้มีสีสันสวยงามอย่างทุกวันนี้ หากแต่คล้ายคลึงกับปลาตะเพียนและปลาไนมากเพราะอยู่ในวงศ์เดียวกัน (Family Cyprinidae) ปลาทองเดิมทีมีสีเทา สีน้ำตาล มีขนาดใหญ่พอที่ชาวจีนจะเอามากินเป็นอาหารได้ จึงมีความนิยมเพาะเลี้ยงกันเพื่อการนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ปลาที่ถูกเพาะเลี้ยงนี้ต่อมาก็เกิดผ่าเหล่ากลายเป็นปลาที่มีสีเหลืองบ้าง ทองและแดงบ้าง ออกมาอยู่เนือง ๆ  จึงเริ่มมีการนำไปเลี้ยงในบ่อเพื่อความสวยงาม ความนิยมเกิดขึ้นแพร่หลายในหมู่ขุนนางและคหบดี ส่วนคนจน ๆ ยังไม่มีปัญญาเลี้ยงเพราะราคาแพงและจัดเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ร้านขายปลาอย่างสมัยนี้ก็ยังไม่มี การจะได้ปลาทองมาเลี้ยงประดับบารมีในบ่อสักตัวจึงต้องมีพาวจริง ๆ เท่านั้น
                โชคดีที่ปลาทองเป็นปลาเพาะพันธุ์ง่าย ในเวลาต่อมาปลาทองก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่หาซื้อได้ไม่ยากอีกต่อไป แถมยังมีสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาแตกแขนงออกมาอีกมากมาย จากปลาทองสามัญที่หน้าตาคล้ายปลาตะเพียนก็กลายเป็นปลาที่มีรูปร่างรูปทรงหลากหลาย มีสีสันทั้งเหลือง แดง ขาว ฟ้าและดำ บางตัวก็ไม่เลือกฝ่ายคือมีหลายสีในตัวเอง ราคาก็ถูกลงมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า
                ปลาทองเริ่มโกอินเตอร์เมื่อต้นศตวรรษที่ 17 ประเทศญี่ปุ่นรับเอาปลาทองไปปรับปรุงพันธุ์และเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย สร้างสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาให้มีหน้าตาแตกต่างไปจากบรรพบุรุษของมัน เช่นพันธุ์ริวกิ้น พันธุ์โตซากิ้น เป็นต้น ในทวีปยุโรป มีหลักฐานว่าชาวโปรตุเกสนำปลาทองขึ้นเรือไปประเทศตัวเองเมื่อปีค.ศ. 1620 ฝรั่งสมัยนั้นคงตื่นเต้นยกใหญ่
                สำหรับประเทศไทย ปลาทองเริ่มเข้ามาได้รับความนิยมในสมัยแผ่นดินของพระเพทราชา สมัยอยุธยา โดยมีหลักฐานจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนบางตอนว่า...
                ...ถัดถึงกระถางอ่างน้ำ                        ปลาทองว่ายคว่ำเคล้าคลึงสม
                พ่นน้ำดำลอยถอยจม                             น่าชมชักคู่อยู่เคียงกัน
                บ้างแหวกจอกออกช่องภูเขาเคียง        วัดเหวี่ยงแว้งหางระเหิดหัน
                บ้างกินไคลไล่เคล้าพัลวัน                    ถัดนั้นแอกไถละไมงอน...
                ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้จะยังมีลูกหลานปลาทองที่สืบเชื้อสายมาจากปลาในอ่างหลังบ้านท่านขุนช้างอยู่บ้างหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ปลาทองกลายเป็นปลายอดนิยมในเมืองไทย คนไทยชอบเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะปลาสวยงาม ปลาทองนั้นแม้จะถือกำเนิดในประเทศที่หนาวเย็นอย่างประเทศจีน แต่ก็สามารถปรับตัวอยู่ในประเทศร้อน ๆ อย่างบ้านเราได้สบาย แถมการเพาะพันธุ์ก็ดูท่าจะง่ายกว่าเมืองหนาวเสียด้วยซ้ำ
                ปลาทองอยู่ร่วมวงศ์เดียวกันกับปลาตะเพียนและปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำเมืองไทยเรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carassius auratus auratus ปลาทองในธรรมชาติมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โตเต็มที่อาจมีความยาวกว่า 50 ซ.ม. และมีน้ำหนักราว 4 กิโลกรัม ทว่าปลาทองที่นำมาเพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์เพื่อความสวยงามและเหมาะกับการเลี้ยงในที่แคบจะมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยเฉลี่ยจะมีความยาวไม่เกิน 25 ซ.ม. (ไม่รวมหาง) ซึ่งจะว่าไปก็ถือว่าใหญ่มากแล้ว
                เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ปลาทองความจำสั้น กันมาบ้าง ด้วยเหตุที่บางคนเข้าใจเอาว่าปลาทองเป็นสัตว์สมองน้อย จดจำอะไรไม่ได้นานนัก แค่ไม่กี่นาทีก็ลืมแล้วเช่นการกินอาหาร ให้ไปแล้วไม่ทันไรก็ขึ้นมาขออีก อะไรทำนองนี้ คนที่ขี้หลงขี้ลืมมักถูกล้อว่ามีความจำแบบปลาทอง บางคนรีบออกตัวก่อนเลยเวลาจะโดนใช้งานด้านจด ๆ จำ ๆ ว่าอย่ามาใช้ชั้นนะเฟ้ย ชั้นน่ะความจำสั้นเหมือนปลาทองเปี๊ยบ
                ในความเป็นจริง ปลาทองมีมันสมอง มีความคิดและความทรงจำไม่ได้ด้อยไปกว่าปลาส่วนใหญ่เลย แถมยังออกจะเหนือกว่าด้วยซ้ำเพราะมีผู้พิสูจน์แล้วหลายครั้งหลายหนว่าปลาทองสามารถจดจำใบหน้าของเจ้าของมันได้ สามารถจำแนกการเคลื่อนไหว การสั่นสะเทือนของฝีเท้าคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นในกรณีของปลาทองที่มีดวงตาบอดสนิท (เนื่องจากมีวุ้นมาบัง) สามารถขึ้นมารอขออาหารจากเจ้าของได้เนื่องจากคุ้นเคยและจดจำจังหวะการก้าวเท้าและการเคลื่อนไหวได้ เจ๋งจริง ๆ  ในประเทศญี่ปุ่น มีผู้พยายามฝึกปลาทองให้ว่ายไปมาตามคำสั่งโดยการใช้สัญลักษณ์เคลื่อนไหวนิ้ว ปลาทองที่ฝึกสามารถว่ายน้ำแปรขบวนได้ ว่ายหาทางออกในอุโมงค์ที่ดูค่อนข้างซับซ้อนได้ ว่ายลอดห่วง เล่นโปโลน้ำแข่งกันเอง สารพัด ซึ่งมันคงทำไม่ได้อย่างนี้ทุกตัว แต่เห็นแล้วต้องยอมรับว่าน่าทึ่งจริง ๆ ครับ ผมเองฝึกได้แค่ป้อนอาหารกับมือก็ดีใจจะแย่แล้ว
            หลายคนเคยลองเลี้ยงปลาทอง แล้วปรากฏว่าไปไม่รอด เลี้ยงทีไรตายเกลี้ยงทุกที สุดท้ายจึงเลิกและฝังใจไปเลยว่ามันเป็นปลาเลี้ยงยาก ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดอีกแหละครับ การเลี้ยงปลาทองใช้หลักง่าย ๆ แค่ 3 ข้อเท่านั้น คือ 1 อย่าเลี้ยงหนาแน่น 2 ให้อาหารพอประมาณ และ 3 เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย
                ขยายความหน่อยนะครับ
                1 อย่าเลี้ยงหนาแน่น
                บางคนมีตู้เล็กนิดเดียวแต่อยากเลี้ยงปลาทองหลาย ๆ ตัว ปลานั้นเมื่ออยู่กันอย่างเบียดเสียดแออัดก็จะเกิดความเครียด ว่ายไปได้หน่อยก็ชนกันตุ้บตั้บ ไม่นานก็จะเริ่มป่วยและตาย ซึ่งหากเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ก็จะพากันไปเฝ้าท่านยมกันเป็นหมู่คณะเลย
                สูตรคำนวณง่าย ๆ ว่า ปลาทองหนึ่งตัวต้องการปริมาตรน้ำอย่างน้อย 35 ลิตร ตู้มาตรฐานในบ้านเราขนาด 20 นิ้วสามารถจุน้ำได้เท่านั้นพอดี ก็เป็นอันว่าเลี้ยงได้ตัวเดียว นี่หมายถึงการเลี้ยงระยะยาวที่ปลาจะต้องเติบโตนะครับ ถ้าใครจะเริ่มเลี้ยงจากลูกปลาก็สามารถเลี้ยงได้มากกว่านั้น แต่ก็อย่าให้แน่นเกินไป และพอปลาเริ่มโตก็หาตู้ใหญ่ ๆ มาเปลี่ยนเสียด้วย
                2 ให้อาหารพอประมาณ
                คนส่วนใหญ่เวลาให้อาหารปลาทองจะโปรยให้เสียเยอะ เพราะเข้าใจไปเองว่าปลาทองมีกระเพาะที่ใหญ่กว่าปลาอื่น ๆ ซึ่งไม่จริงเลย ปลาทองมีขนาดอวัยวะภายในไม่ต่างกับปลากลุ่มเดียวกัน ที่เห็นเป็นพุงป่อง ๆ นั้นคือถุงลมหรือกระเพาะลม (swim bladder) ที่สั้นและกว้างกว่าปรกติเนื่องมาจากการคัดพันธุ์ให้ดูเด่นแปลกตาตามใจมนุษย์
                ปลาทองกินเก่งก็จริง แต่การให้อาหารในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ปลามีปัญหาได้ง่าย อย่างแรกคือระบบทางเดินอาหารที่จะสามารถตันหรือโป่งออกเนื่องจากปริมาณอาหารที่เข้าไป อย่างที่สองคือปลาที่กินมากก็จะขับถ่ายมาก คุณภาพน้ำก็จะเสียอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีระบบกรองดีเลิศเพียงใด ถ้าเลี้ยงปลาทองโดยไม่กำหนดปริมาณอาหารให้พอเหมาะก็จะมีปัญหาน้ำเสียตามมาเสมอ และน้ำเสียนี้เองจะเป็นตัวการหลักที่จะทำให้ปลาทองป่วย
            วิธีการให้อาหารปลาทองคือให้วันละมื้อเดียว โดยให้ในปริมาณที่ปลาจะกินหมดได้ภายใน 3-5 นาที (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ปลาทอง บางชนิดกินเร็วเช่นปลาทองโคเมท ก็ให้แค่ 3 นาที ปลาทองพันธุ์อ้วน ๆ วุ้นเยอะ ๆ ทั้งหลายที่เคลื่อนไหวอุ้ยอ้ายก็ให้ 5 นาที เป็นต้น)
                3 เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย
            การเปลี่ยนถ่ายน้ำ นอกจากจะช่วยกำจัดของเสียภายในตู้ออกไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ยังช่วยให้ปลาทองสดชื่นรื่นเริง จริงอยู่ว่าตู้ปลาสมัยใหม่จะมีระบบกรองน้ำติดตั้งไว้เสร็จ ทว่าปลาทองเป็นปลาที่กินมากและขับถ่ายเก่งเป็นเลิศ ระบบกรองน้ำไม่สามารถกำจัดหรือบำบัดน้ำในตู้ได้ทัน เราจึงต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำช่วยให้บ่อยเพื่อทำให้น้ำมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ
                ในตู้ขนาดเล็กที่เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-25% ทุก 3 วัน ส่วนตู้ใหญ่ ๆ ระบบกรองดี ๆ อาจยืดได้เป็นสัปดาห์ละครั้ง ไม่ควรเกินกว่านี้
                (ต่อคราวหน้าครับ)

ไม่มีความคิดเห็น: