Our Fish

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปลาแม่บ้าน ตอน2


ปลาซัคเกอร์ กินตะไครดีมากแต่ไม่แนะนำให้เลี้ยงเพราะมีขนาดใหญ่มากและแพร่ขยายพันธุ์เร็วจนเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศไทย


ปลาน้ำผึ้ง ปลาไทยที่กินตะใคร่ดีมากเช่นกันแต่ไม่เหมาะจะเลี้ยงในที่แคบเพราะก้าวร้าว


พานาเมนเซ่ ปลากินตะใคร่รูปร่างแปลกตานิยมเลี้ยงในตู้ต้นไม้น้ำ


ปลาแม่บ้าน ยอดนักทำความสะอาดประจำอควาเรี่ยม (ตอนที่ 2)
พิชิต ไทยยืนวงษ์

ปลาที่มีพฤติกรรมกินตะไคร่น้ำหรือกินเศษอาหารในตู้เลี้ยงที่ผมเรียกมันว่าปลาแม่บ้านนั้นมีมากมายหลายชนิดมากครับ จะขอยกตัวอย่างและบรรยายสรรพคุณให้อ่าน

1 ปลาซัคเกอร์
ปลาซัคเกอร์นี้ผมใช้เป็นตัวอย่างในการอ้างถึงปลาในหัวข้อสนทนาหลาย ๆ เรื่องด้วยกันจนรู้สึกสนิทสนมชิดเชื้อกับชื่อเจ้าปลาตัวนี้กันเป็นอย่างดี ปลาซัคเกอร์ในบ้านเรามักเรียกกันว่า “ปลาเทศบาล” หรือไม่ก็เรียก “ปลาดูด” กันตรง ๆ ไปเลยตามลักษณะปากของปลาชนิดนี้ แต่หากให้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “ปลาซัคเกอร์” บ้านเรามักเรียกกันเพี้ยนไปเพี้ยนมาจนแปลความหมายไปต่าง ๆ กันซึ่งหลายชื่อก็ไม่ได้เกี่ยวกับตัวมันเองแต่อย่างใด อย่างเช่น ปลาช็อคเกอร์ (คนเลยเข้าใจไปว่ารูปร่างมันน่าเกลียดน่ากลัวจนช็อคสยองขวัญ), ปลาซ็อคเกอร์ (ไม่รู้มันไปเกี่ยวกับฟุตบอลเข้าได้ยังไงเนี่ย), ปลาชักเกอร์ (คือชักแล้วไม่ตาย ประมาณว่าชักหลอก ๆ ให้คนเก้อเล่น)
เอาเป็นว่าเรามาเรียกมันว่า “ปลาซัคเกอร์” หรือ “ปลาดูด” ก็แล้วกัน จะได้ไม่สับสนไปกันใหญ่

ปลาซัคเกอร์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypostomus plecostomus แหล่งอาศัยตามธรรมชาติของมันอยู่ตามแม่น้ำลำคลองในทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่แล้วอาจมีขนาดได้ถึง 60 ซ.ม. แต่อยู่ในตู้ปลาแล้วมักไม่โตมาก อาจได้สักฟุต ส่วนใหญ่จะอยู่ราว ๆ 10-25 ซ.ม.
ลักษณะของปลาซัคเกอร์นี้แปลก คล้ายกับทัพพีด้ามยาว ๆ สีดำวางคว่ำเอาไว้กับพื้น ปลาชนิดนี้ไม่มีเกล็ด แต่ผิวหนังของมันพัฒนาขึ้นมาทดแทนจนแข็งยิ่งกว่าเกล็ดปลาโดยทั่วไปเสียอีก แถมยังมีหนามเล็ก ๆ เป็นการป้องกันภยันตรายจากการถูกสัตว์อื่นจับกินอีกต่างหาก ในวงวิชาการสัตว์น้ำเมืองไทยเรียกปลาซัคเกอร์ว่า “ปลากดเกราะ” ก็เนื่องมาจากจุดเด่นตรงนี้แหละ
ปากของซัคเกอร์ก็มีลักษณะเหมือนชื่อของมัน คือใช้ดูด ภายในปากมีฟันหรือเขี้ยวซี่เล็ก ๆ เรียงกันเอาไว้ขูดกินเนื้อเยื่อของสัตว์อื่นหรือตะไคร่น้ำให้หลุดออกจากผิวของวัตถุที่มันไปเกาะเพื่อกินเป็นอาหาร ปลาชนิดนี้จึงมีชื่อเสียงเรื่องของการกินตะไคร่ในตู้หรือบ่อปลามากที่สุด มันสามารถอยู่ร่วมกับปลาอื่น ๆ ได้โดยไม่ไปกัดทำร้าย แต่ด้วยสาเหตุที่เป็นปลาขนาดใหญ่ หากนำมาเลี้ยงในตู้คับแคบก็จะเป็นปัญหาไม่น้อย ปลาซัคเกอร์จึงเหมาะกับตู้หรือบ่อใหญ่ ๆ อย่างบ่อปลาคาร์พ คนที่เลี้ยงตู้เล็ก ๆ อย่าไปหามาเป็นแม่บ้านเลยครับ เดี๋ยวต้องเดือดร้อนหาที่ปล่อยกันวุ่นวาย
ข้อดีของปลาซัคเกอร์ ช่วยกินตะไคร่น้ำที่เกาะตามกระจกตู้และบ่อปลา
ข้อเสีย มีขนาดใหญ่ไม่สามารถเลี้ยงในตู้เล็กได้ ที่สำคัญคืออาจดูไม่สวยงามในสายตาคนทั่วไป

2 ปลาน้ำผึ้ง
ชื่อน่ารักดีนะครับ ปลาน้ำผึ้งเนี่ย แต่พอค้น ๆ ดูแล้วว่าท้องถิ่นเขาเรียก “อีดูด” เลยหมดท่า จากคุณหนูกลายเป็นนางทาสไป
ปลาน้ำผึ้งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gyrinocheilus aymonieri ในธรรมชาติเป็นปลาขนาดกลาง โตเต็มที่ยาวได้ถึง 20 ซ.ม. มีสีคล้ำกระด่างกระดำ มีเส้นสีดำหนาใหญ่พาดจากดวงตายาวไปจนถึงโคนหางเป็นจุดสังเกตเด่นชัด ส่วนปลาที่นำมาเลี้ยงในตู้คาดว่ามีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีสีขาวอมชมพูหวานแหววน่ารัก ไม่มีลายคาดดำ ไม่ใหญ่โตนัก (แต่ปลาที่นำไปเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ มีตะไคร่ให้กินอุดมสมบูรณ์ ปลาก็จะโตได้เต็มที่เท่ากับในธรรมชาติของมันอยู่นั่นเอง)
ปลาน้ำผึ้งมีรูปร่างยาวทรงกระบอก ปากรูปดูดเหมือนปลาซัคเกอร์ ชอบกินตะไคร่น้ำเหมือนกัน แต่บางทีเผลอ ๆ ก็แจมอาหารปลากับเขาบ้างโดยเฉพาะอาหารสดอย่างไส้เดือนน้ำ ปลาน้ำผึ้งไม่นิยมเลี้ยงรวมกับปลาทองเพราะเป็นปลาอุ้ยอ้าย แถมยังมีเมือกเยอะทำให้น้ำผึ้งชอบเข้าไปรุมตอมดูดเอาเมือกตามผิวหนังของปลาทองจนบางตัวเซ็งถอดใจลอยหงายตุ๊บป่องตายไปเลย
ในตู้ปลาขนาดปานกลางไม่ควรเลี้ยงน้ำผึ้งมากนัก เพราะน้ำผึ้งกินตะไคร่เร็ว และหากไม่มีให้กินแล้วจะซูบผอมจนหัวโตภายไม่กี่วัน เมื่อหิวมาก ๆ ก็อาจจะกลายเป็นมาทำร้ายปลาในตู้ที่ว่ายช้าป้องกันตัวเองไม่ค่อยได้จนถึงตาย
ข้อดีของปลาน้ำผึ้ง กินตะไคร่น้ำได้ดุเดือดดีมาก เป็นเครื่องจักรสังหารตะไคร่ในตู้ชนิดเยี่ยม ข้อเสีย ชอบดูดเมือกข้างลำตัวปลาอื่นที่เชื่องช้าเช่นปลาทอง บางครั้งเล่นไม่เลิกจนปลาทองตายก็มี

3 ปลาแพะ
ปลาแพะเป็นปลาแม่บ้านอีกชนิดหนึ่งที่ผมชอบมาก เพราะมันมีนิสัยดี ไม่ค่อยยุ่งกับใคร วัน ๆ ง่วนเก็บกินเศษอาหารตามพื้นไม่สนใจข่าวบ้านการเมืองเท่าไรนัก แถมยังตัวเล็ก โตจนแก่ยังไงก็เรียกได้ว่าเล็กอยู่ดี ประมาณนิ้วหัวแม่มือเท่านั้นเอง ที่สำคัญ ปลาแพะมีสายพันธุ์ให้เลือกเลี้ยงหลากหลายมาก ลวดลายสีสันแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มาจนบางทีกลายเป็นปลาที่คนนิยมสะสมเป็นคอลเล็คชั่นมากกว่าจะนำมาเลี้ยงเป็นแม่บ้านประจำตู้ปลาจริง ๆ เสียอีก
ชื่อสกุลของปลาแพะคือ คอรีดอราส (Corydoras spp.) ส่วนชื่อสปีชีส์นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นชนิดอะไร มีหลายสิบสปีชีส์เหลือเกิน ราคาก็มีทั้งถูกแค่ไม่กี่บาทไปจนถึงหลายร้อย ให้เลือกเลี้ยงกันได้ตามอัธยาศัย แต่ตัวที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาแม่บ้านประจำตู้ปลาคือ Corydoras aeneus หรือที่เรียกกันว่า “ปลาแพะเขียว” ลักษณะของปลาแพะเขียวจะสั้นป้อม หัวโตหางเล็ก ปากด้านล่างมีหนวดเอาไว้หาอาหารที่ซุกซ่อนอยู่ตามพื้นหรือใต้ผืนทราย ปลายหนวดมีประสาทสัมผัสที่ไวมาก และเป็นปลาที่จมูกดีเลิศราวกับสุนัขบลัดฮาวด์
ปลาแพะเขียวเมื่อเพาะไปเพาะมาก็ผ่าเหล่า มีปลาแพะเผือกออกมาสร้างสีสันแก่วงการการเลี้ยงปลา แพะเผือกสีขาวอมชมพูตาสีแดงทับทิมดูสวยสะอาดน่ารักกว่า คนก็นิยมเลี้ยงกันมากกว่า แต่ราคานั้นพอกันเพราะแพร่ขยายพันธุ์ได้ไม่ยากเหมือนกัน
ปลาแพะนิยมเลี้ยงในตู้ที่เลี้ยงปลาประชากรหลักไม่ใหญ่โตโลดโผนโหดร้ายนัก โดยมากมักเลี้ยงกับปลาเล็ก ๆ ด้วยกันหรือไม่ก็ตู้ต้นไม้น้ำ ปลาแพะเก็บเศษอาหารตามพื้นตู้กินได้ตลอดทั้งวัน ไม่ค่อยไปเบียดเบียนใคร แต่หากตามพื้นไม่มีอาหารให้มันกินมันก็อาจจะฝืนมติประชาคมแหวกว่ายขึ้นมาหาเอาบนผิวน้ำเวลาเราให้อาหารกับปลาหลักได้เหมือนกัน เห็นได้ชัดหากเราเลี้ยงปลาแพะไว้เป็นฝูงหลาย ๆ ตัว จนบางทีเจ้าแม่บ้านพวกนี้แทบไม่สนอาชีพของตัวเองไปเลย
อย่าเลี้ยงปลาแพะในตู้ปลาทอง โดยเฉพาะปลาทองขนาดใหญ่ เพราะปลาทองนั้นซุ่มซ่ามแถมยังตะกละหิวเก่ง บางทีเผลอจุ๊บเอาปลาแพะตัวน้อยติดเข้าไปในปากจนเกิดเรื่องใหญ่เพราะครีบว่ายน้ำของปลาแพะนั้นแข็งเป็นเงี่ยง เมื่อเข้าปากปลาทองไปแล้วมักจะติด เข้าทำนองกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของแท้ มีคนบอกว่าเคยเห็นปลาทองนอนตายอ้าปากหวอ ในปากมีศพปลาแพะติดอยู่ด้วย ได้ยินแล้วก็ได้แต่ปลงอนิจจัง
ข้อดีของปลาแพะ เก็บเศษอาหารที่ปลาอื่นกินเหลือหรือสำรอกออกมาแล้วฝังอยู่ตามพื้นกรวดก้นตู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสีย จะว่าไปแล้วก็ไม่น่ามี ยกเว้นอย่าไปเลี้ยงรวมกับปลาที่ใหญ่กว่าหรือดุร้ายอย่างปลาหมอสี ปลากินเนื้ออื่น ๆ

4 ปลาหมู
ปลาหมูนี้น่าจะเรียกให้เต็ม ๆ ว่าปลาหมูป่า เพราะหากใครเคยสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่าปลาหมูมีเงี่ยงแหลม ๆ คม ๆ ซุกซ่อนอยู่ตรงผิวหนังบริเวณใต้ดวงตา เวลาเงี่ยงนี้ง้างออกเพื่อข่มขู่ศัตรูจะดูเหมือนเขี้ยวหมูป่ามากทีเดียวเชียวครับ
ปลาหมูเป็นปลาที่มีเกล็ด แต่เกล็ดนั้นเล็กละเอียดแล้วยังไพล่ไปอยู่ใต้ผิวหนัง เลยดูกลายเป็นปลาไม่มีเกล็ดไป ตรงกันข้ามกับพวกปลาไร้เกล็ดอย่างปลาแพะและปลาซัคเกอร์ที่ตัวเองไม่มีเกล็ดแต่ก็สู้อุตส่าห์พัฒนาผิวหนังให้แข็งแกร่งเหมือนเกราะมาแทนเกล็ด อย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นปลาที่มีวิริยะอุตสาหะโดยแท้
ชื่อสกุลของปลาหมูคือ Botia spp. มีสายพันธุ์หลากหลายมาก แต่ที่นิยมนำมาเลี้ยงในตู้ค่อนข้างมีจำนวนน้อย ไม่ใช่เพราะไม่สวย แต่เพราะมันหามาเลี้ยงไม่ค่อยจะได้ต่างหาก ปลาหมูที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือปลาหมูอินโดนีเซีย (Botia macracanthus) เรียกสั้น ๆ ว่าหมูอินโด นักเลี้ยงปลาเขายกให้เป็นปลาหมูที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด ส่วนปลาหมูอื่น ๆ ก็ใช่จะสวยน้อยหน้ากัน อย่างเช่นปลาหมูจักรพรรดิ (Botia beauforti) ปลาหมูอินเดีย (Botia striata) ปลาหมูบางตัวมีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์แล้วอย่างเช่นปลาหมูอารีย์ (Botia sidthimunki) ตอนนี้หากันให้ควั่กแต่ก็ไม่ค่อยจะมีขาย คาดว่าใครมีไว้ขายเข้าข่ายผิดกฏหมายเอาเสียด้วย ตรงนี้ต้องสอบถามกับกรมประมงดูอีกทีเพื่อความชัวร์
ในธรรมชาติปลาหมูหากินกลางคืน ลักษณะนิสัยคล้ายกับปลาแพะ มีหนวดอยู่ตรงปลายปากด้านล่างเหมือนกันไว้สำหรับหาอาหาร ในตู้ปลาปลาหมูกินเศษอาหารที่เหลือตกหล่นไว้ดีมาก แต่ก็ขึ้นมาร่วมแจมอาหารที่ให้กับปลาหลักได้ด้วยอย่างไม่ขัดเขินละอายแก่ใจ และนอกจากจะกินเศษอาหารได้ดีแล้ว ปลาหมูยังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างคือกำจัดหอยเล็ก ๆ ในตู้ได้อย่างชะงัดนัก พูดแบบนี้หลายคนคงเลือกปลาหมูไว้ในใจเตรียมตัวออกไปหาซื้อมาเลี้ยง แต่เดี๋ยวก่อนครับ ฟังข้อเสียของปลาหมูสักหน่อยก่อน ปลาหมูส่วนใหญ่นิสัยไม่ค่อยดีนัก ออกก้าวร้าวน้อย ๆ ไปจนถึงก้าวร้าวใหญ่ ๆ ปลาหมูตัวจิ๋ว ๆ อย่างหมูค้อ (Botia morleti) ยาวไม่กี่เซ็นต์แต่ดุเหมือนพริกขี้หนู วิ่งไล่ปลาตัวใหญ่กว่ากระเจิดกระเจิง แม้กระทั่งปลาหมูอินโดอันแสนสวย ถ้าเลี้ยงในตู้แคบ ๆ ก็ออกอาการอาละวาดเอาเรื่องเหมือนกัน แต่ถ้าตู้มีพื้นที่สักหน่อยก็ค่อยยังชั่ว ฤทธิ์น้อยลงไปเยอะ
ข้อดีของปลาหมูอินโด กินเศษอาหารและหอยขนาดเล็ก ๆ ในตู้ปลาได้เก่งกาจไม่มีใครเกิน ข้อเสีย ตัวใหญ่ นิสัยออกก้าวร้าว ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาปลาทองหรือปลาเชื่องช้าทั้งหลายได้

ไม่มีความคิดเห็น: