Our Fish

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปลาแม่บ้าน ตอน1


ปลาแพะแพนด้า ปลากินเศษอาหารก้นตู้ โตเต็มที่ ปรมาณ4ซม.ไม่ก้าวร้าว เลี้ยงกับปลาเล็กๆได้ดี


ปลาโอโตซินคลัส ปลาแม่บ้านขนาดเล็กเหมาะกับตู้ต้นไม้น้ำ หรือตู้ขนาดเล็ก ไม่ก้าวร้าว


ปลาหมูอินโด เหมาะกับตู้ขนาดกลางหรือใหญ่กินหอยเล็กๆได้ดี หากเลี้ยงเป็นกลุ่มปลาจะไม่ค่อยหลบ


ปลาแม่บ้านตอนที่1
พิชิต ไทยยืนวงษ์

การเลี้ยงปลาก็เปรียบเหมือนกับเราสร้างเมืองจำลองขึ้นมาสักเมืองหนึ่ง เป็นเมืองที่เล็กบ้างใหญ่บ้างตามแต่กำลังทรัพย์และความสะดวกในการดูแล คนอยู่คอนโดหรืออพาร์ทเมนท์ก็สร้างเมืองเล็กหน่อย อาจเป็นเมืองในโหลหรือตู้ขนาดสัก 24 นิ้วกำลังสวย ถ้าคนมีที่ทางก็เลี้ยงเมืองใหญ่ขึ้น บางบ้านเล่นเมืองขนาด 2-3 เมตร เห็นแล้วอลังการงานสร้างจริง ๆ ที่ผมเปรียบตู้ปลาเหมือนกับเมือง ๆ หนึ่งนั้นก็เพราะเห็นว่ามันต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๆ ในแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่ซึ่งก็คืออาณาบริเวณภายในตู้ปลาโดยรวม สภาพภูมิประเทศก็คือการจัดตกแต่งตู้ ประชากรก็คือปลาบ้างสัตว์น้ำอื่น ๆ อย่างกุ้งหรือหอยบ้าง สภาพเศรษฐกิจก็คือเรื่องของอาหารการกินวิตามินเสริมอะไรทำนองนี้ บางตู้ปลาก็มีการส่งออกเสียด้วยก็คือการแพร่พันธุ์ลูกจนเจ้าของประเทศเอาไปขายเปลี่ยนเป็นเงินมาซื้ออาหารดี ๆ เลี้ยงดูกันเองต่อไป

โฟกัสไปเฉพาะเรื่องของประชากรในตู้อันได้แก่ปลา ตู้หรือที่หลาย ๆ ท่านนิยมเรียกว่าอควาเรี่ยมนั้น มีทั้งการเลี้ยงปลาแบบแยกเดี่ยวและรวม ผมอยากพูดถึงการเลี้ยงปลาแบบรวมเนื่องจากสามารถเปรียบเทียบกับสังคมย่อย ๆ ได้มากกว่าการเลี้ยงแบบแยเดี่ยวหรือตู้ฟอร์มปลา ตู้ปลารวมก็คือตู้ที่เลี้ยงปลาหลากหลาย มีมากกว่า 2 หรือ 3 ชนิดขึ้นไป บางตู้ว่ากันเป็นสิบชนิดแล้วแต่ขนาดพื้นที่ของตู้และความสามารถในการหาปลามาเลี้ยงของผู้เลี้ยง ถ้าลงมากกว่า 1 ชนิดก็เริ่มเป็นระบบสังคมย่อย ๆ ขึ้นมาแล้วโดยที่เราบางทีก็ไม่ได้คาดคิดไว้ก่อนด้วยซ้ำ องค์ประกอบของสังคมปลาในตู้อาจแบ่งหยาบ ๆ ได้เป็น ปลาประชากรหลัก ปลาประชากรรอง และปลางานหรือปลาที่เอาไว้ใช้งาน

ปลาหลักหรือปลาประชากรหลัก อาจเป็นปลาอะไรก็ได้ที่ผู้เลี้ยงเห็นแล้วเกิดความรู้สึกไปในทางชื่นชอบความงามของมันมากกว่าประโยชน์อย่างอื่น จำนวนปลาหลักจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเช่นขนาดของตู้ ชนิดของปลา เป็นต้น ปลาบางอย่างเลี้ยงรวมเป็นฝูงได้ไม่มีปัญหา แต่พอเลี้ยงแบบสะเปะสะปะเอามาแค่ไม่กี่ตัวก็ออกอาการก้าวร้าวดุร้ายเช่นปลาเสือสุมาตรา ปลาแรด และปลาหมอสี ในทางตรงกันข้าม ปลาบางชนิดเลี้ยงน้อย ๆ ไม่มีปัญหา แต่พอเลี้ยงมากเข้าก็เกิดเรื่องวุ่นวายได้เช่นกัน นักเลี้ยงปลาที่มีประสบการณ์สักหน่อยจะสังเกตตรงนี้ได้ไม่ยาก และซื้อหาปลามาเลี้ยงได้อย่างเป็นสัดส่วนลงตัว แต่โดยรวมแล้วปลาประชากรหลักต้องมีจำนวนมากกว่าหรืออาจมีจำนวนน้อยแต่มีความโดดเด่นกว่าปลารอง หรือปลาประชากรรอง ไม่ใช่ปลารองบ่อนนะครับ ปลารองก็คือปลาที่ผู้เลี้ยงอาจไม่ได้ตั้งใจอยากนำมาเลี้ยงแต่แรก แต่เมื่อเลี้ยงปลาประชากรหลักไปแล้ว เนื้อที่ในตู้เหลืออยู่จำนวนจำกัด การเลี้ยงปลาอื่น ๆ จึงต้องประหยัดคือไม่สามารถหาซื้อมาเลี้ยงทีละมาก ๆ ได้อีกต่อไป อาจเลี้ยงแบบหยอด ๆ คือซื้อมาใส่ตัวหนึ่งบ้าง สองตัวบ้าง เอาแค่พอประดับให้เกิดความไม่น่าเบื่อ ปลารองอาจมีหลายชนิด แล้วแต่ผู้เลี้ยงอีกนั่นแหละ แต่จะต้องไม่มากไปกว่าปลาหลักเพราะไม่งั้นมันก็ไม่ใช่ปลารองน่ะสิครับ

ประชากรปลาสุดท้ายที่จะพูดและเป็นสิ่งที่สำคัญในการนำเสนอของผมคราวนี้ก็คือประชากรปลางาน หรือปลาที่มีเอาไว้ใช้งาน ผมชอบที่จะเรียกปลากลุ่มนี้ว่าปลาแม่บ้าน เห็นว่ามันน่ารักดี เคยไหมครับ เวลาไปหาซื้อปลาตามร้านขายปลา คนขายมักแนะนำปลาประเภทกินตะไคร่น้ำบ้าง ปลากินเศษอาหารบ้าง กินขี้ปลาด้วยกันเองบ้าง ให้เราซื้อมาติด ๆ ตู้ไว้เพื่อจะได้ช่วยกันทำความสะอาดตู้ถ่วงเวลาคนเลี้ยงไม่ให้ต้องมาล้างกันบ่อย ๆ ปลาพวกนี้แหละครับ คือปลาแม่บ้าน คนเลี้ยงไม่ได้อยากเอามาเลี้ยงเพื่อดูความสวยงามของมันเป็นเหตุใหญ่ แต่ซื้อมาเพราะเห็นว่าช่วยได้ในเรื่องของระบบนิเวศน์โดยเฉพาะการเก็บกินสิ่งที่ไม่พึงประสงค์อย่างเศษอาหารเหลือ ๆ ที่บรรดาพ่อเจ้าประคุณปลาหลักปลารองกินไม่หมด

ปลางานหรือปลาแม่บ้านจะไม่เลี้ยงกันมาก แหงละครับ มันไม่สวยงามอะไรแถมการว่ายน้ำก็ไม่ได้เป็นไปในแบบที่คนส่วนใหญ่ต้องการเสียด้วย ปลางานบางชนิดปักหลักทำมาหากินอยู่กับที่ จนกว่าสัมปทานของมันจะหมดค่อยย้ายถิ่นอย่างเช่นพวกปลากินตะไคร่ บางชนิดทำงานเฉพาะกะกลางคืน กลางวันไม่โผล่หัวอย่างเช่นปลาหมู (บางชนิด) ปลาปล้องอ้อย และบรรดาปลาในกลุ่มแคทฟิชอีกหลายชนิดเหลือเกิน โดยปรกติการเลี้ยงปลาพวกนี้มักดูสภาพของตู้ปลาโดยรวมก่อน ไม่ใช่ว่าใครแนะนำอะไรก็ซื้อดะ เพราะปลาใช้งานนั้นเมื่อมันไม่ได้กินในสิ่งที่มันต้องการตามธรรมชาติแล้วมันก็อาจจะหันมาเบียดเบียนปลาหลักในตู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแย่งอาหารโดยตรงหรือจู่โจมเพื่อดูดเอาเมือกของปลาบางอย่างทดแทนกับสิ่งที่มันหาไม่ได้ในตู้ (เพราะตู้อาจจะสะอาดเกินไป) ยกตัวอย่างหน่อย จะได้เห็นชัด ๆ

อย่างตู้ที่มีตะไคร่ขึ้นจัด โดนแดดมากหรือใช้แสงไฟมากเพื่อให้ต้นไม้น้ำเติบโตหรืออะไรก็สุดแท้แต่ เอาเป็นว่าตู้นี้มีตะไคร่เยอะ อย่างนี้สมควรเอาปลาที่มีคุณสมบัติกินตะไคร่น้ำมาเลี้ยง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาหลักที่เลี้ยงอยู่ด้วยว่าเป็นปลาอะไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง เช่นคนที่มีตู้เล็กนิดเดียว แต่ดันไปหาเอาปลาซัคเกอร์มาเลี้ยง ปลาซัคเกอร์เป็นปลาใหญ่ เมื่อโตเต็มที่อาจมีความยาวได้ถึง 50 ซ.ม. แต่โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ราว ๆ 1 ฟุต พอปลาโตขึ้น ตู้เลี้ยงไม่ไหว เจ้าของก็เล่นวิธีง่าย ๆ คือเอาไปโยนลงคลอง กลายเป็นปัญหาสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะเจ้าซัคเกอร์นี้เป็นปลาที่นอกจากจะกินตะไคร่น้ำได้เก่งมากแล้ว ยังเป็นปลาที่มีศักยภาพสูงในการขโมยกินไข่ปลาอื่น ๆ อีก แถมยังมีศัตรูน้อย (ซัคเกอร์เป็นปลาจากทวีปอเมริกาใต้ ในธรรมชาติของมันมีศัตรูอยู่ไม่น้อยเป็นการรักษาระดับปริมาณของพวกมันให้เกิดสมดุล) ซัคเกอร์แพร่ขยายพันธุ์เร็วมาก ไม่คุ้มกันหรอกกับปลาสายพันธุ์ไทยแท้ในแม่น้ำลำคลองที่ต้องทะยอยสูญหายไปด้วยการเข้ามาทดแทนของมัน
หากมีตู้เล็ก ก็ควรหาปลากินตะไคร่ที่ขนาดไม่ใหญ่นัก เรียกว่าอยู่ในตู้ได้จนแก่ตายไปเลย ปลาแบบนี้มีเยอะครับ เช่นปลาน้ำผึ้ง ปลาซัคเกอร์ผีเสื้อ ปลาเล็บมือนาง เป็นต้น

ตู้ที่สกปรกเลอะเทอะหน่อยเพราะเจ้าของชอบให้อาหารปลามาก ๆ นัยว่าปลาจะได้โตเร็ว ตู้แบบนี้ควรมีปลาเก็บเศษอาหารตามพื้นมาช่วยเพราะปลาที่กินอาหารมากเกินความพอดีของมันแล้ว สักพักหนึ่งจะสำรอกออกมา หรือไม่ก็ออกมาเป็นอุจจาระที่ยังไม่ค่อยจะย่อยดีนัก เหล่านี้ทำให้น้ำเสียเร็วกว่าปรกติ ปลาเก็บเศษอาหารช่วยได้มากทีเดียว มันจะคอยว่ายระไปตามพื้น หาเศษหาเลยกินไปตามเรื่อง ไม่ค่อยขึ้นมาแย่งอาหารปลาบนผิวน้ำกินนอกจากจะปล่อยให้มันอดอยากจนต้องพัฒนาตัวเองบากหน้าขึ้นมากินอาหารข้างบน เข้าทำนองด้านได้อายอดนั่นเอง ปลากลุ่มนี้ได้แก่กลุ่มปลาแพะ ปลาหมู ซึ่งบางทีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปลาพวกนี้บางชนิดก็มีสีสันที่สวยไม่ใช่เล่น อาจควบตำแหน่งปลาประชากรรองไปด้วยในตัวก็มี

อีกกรณีหนึ่งที่คนชอบเลี้ยงต้นไม้น้ำมักเจอกัน นั่นคือปริมาณหอยในตู้ปลามากจนเหลือจะเก็บด้วยมือ หอยที่ว่ามีขนาดเล็กจิ๋ว แต่หากปล่อยให้โตเต็มที่ก็ประมาณ ๆ 1-2 ซ.ม. ทีเดียว แถมยังแพร่ขยายพันธุ์เร็วอย่างน่าสะพรึงกลัว หากไม่มีตัวกำจัดที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ แค่ไม่กี่วันจะเห็นลูกหอยยิบ ๆ เกาะพราวตามตู้เต็มไปหมด โดยปรกติแล้วปลาเกือบทุกชนิดสามารถกินตัวอ่อนของหอยได้ ตู้ที่เลี้ยงปลาจึงยังคงรักษาดุลยภาพของปริมาณหอยได้ในระดับที่ไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก แต่ก็ไม่หมดจดเสียทีเดียว เพราะหอยนั้นไปได้ทุกที่ อยู่ทุกซอกหลืบ และเมื่อเติบโตขึ้นมาสักหน่อยแล้วเปลือกมันก็แข็งแรงพอที่จะปกป้องตัวมันเองจากปากปลาโดยทั่วไป นักเลี้ยงปลาที่อยากจัดการกับปัญหานี้ให้เด็ดขาดจึงมักหาซื้อปลาปักเป้ามาเลี้ยง ไม่ต้องมากมายครับ แค่ตัวสองตัวหอยเล็กหอยใหญ่ก็หายเกลี้ยงแล้ว ปักเป้าเป็นปลาที่กินหอยโดยธรรมชาติ มันมีฟันแข็งแรงขนาดใหญ่ งับทีเดียวเปลือกหอยแตกกร้วม เคี้ยวกินอย่างกับเรากินข้าวเกรียบอย่างไรอย่างนั้น

แต่ปลาปักเป้าเองก็มีหลายชนิด ไม่ใช่ว่าจะเลี้ยงได้ไปทั้งหมด บางชนิดตัวใหญ่ยักษ์ว่ากันเป็นฟุต แต่บางชนิดก็ตัวจิ๋วหลิวแค่เซ็นต์สองเซ็นต์ แถมยังมีชนิดน้ำจืดแท้ ๆ กับน้ำกร่อย ใครไม่รู้ไปซื้อปลาปักเป้าน้ำกร่อยมาเลี้ยงในตู้น้ำจืด แค่ไม่กี่วันปลาปักเป้าก็ตาย ปิศาจหอยก็กลับมามีอำนาจครองตู้ต่อไปตามเดิม ปักเป้าน้ำกร่อยมีให้เห็นมากหลายชนิด แถมยังราคาถูกและมีลวดลายเด่นตา เช่น ปักเป้าซีลอน ปักเป้าจุด ปักเป้าทอง ถ้าเป็นปักเป้าน้ำจืดจริง ๆ มักมีลวดลายไม่ค่อยสวยนัก เช่นปักเป้าดำ ปักเป้าโชติสุวัตถิ แต่บางชนิดก็มีลายเด่นสะดุดตาเช่น ปักเป้าปาเลมบัง ปักเป้าสมพงษ์ ปักเป้าแคระหรือปักเป้าเหลือง เป็นต้น

ปักเป้าเป็นปลานิสัยก้าวร้าว หากปลาหลักเป็นปลาขนาดเล็กหรือค่อนข้างบอบบางอ่อนแอแล้วก็ไม่ควรเลี้ยง หรือเลือกเลี้ยงปักเป้าชนิดที่มีขนาดแคระเช่นปักเป้าแคระ (Yellow Puffer) จะได้ไม่เกิดปัญหาปลาใช้งานไปกัดปลาประชากรหลักกินเป็นอาหาร

ในสังคมมนุษย์เรายังเรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับทุกกลุ่มทุกชนชั้น ในสังคมปลาก็เช่นกัน โดยเฉพาะสังคมปลาในตู้ที่เราควบคุมดูแลมันกับมือของเราเอง ก็ควรจะดูแลเอาใจใส่ปลาทุกกลุ่มอย่าให้เกิดความรักใคร่แบบลำเอียง บางท่านเห็นปลาใช้งานเจ็บป่วยหรือไม่ค่อยได้กินอาหารจนตัวผอมลีบ ก็ไม่ยอมจัดการแก้ไขอย่างไรเพราะคิดว่าราคาของมันแค่ไม่กี่บาท ตายลงก็คงไม่เป็นไร แต่กับปลาหลักที่ซื้อมาราคาแพง ๆ พอเจ็บขึ้นมานิดหน่อยก็หน้าตั้งวิ่งวุ่นหายามาใส่ แม้ว่าสังคมปลาในตู้จะเป็นสังคมย่อย แต่ก็คือการจำลองรูปแบบมาจากสังคมใหญ่ที่เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นอยู่ด้วย และเราคงไม่พอใจนักหากผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศเกิดความลำเอียง อุ้มชูคนที่เขาเห็นว่าดีและละเลยคนที่เขาเห็นว่าไม่มีค่าสำหรับตัวเขาปล่อยให้เผชิญวิบากกรรมไปจนอดอยากปากแห้งล้มหายตายจากไปอย่างไร้คนเหลียวแล ผมชักจะแก่การเมืองไปแล้วหรืออย่างไรกันนี่ คราวหน้ามาว่ากันเรื่องชนิดของปลาแม่บ้านกันดีกว่านะครับ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้พี่เขียนบทความดีๆแบบนี้ต่อๆไปครับ...ปิดท้ายบทความได้ซึ้งกินใจมากเลยครับ