Our Fish

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปัญหาที่มักพบเจอประจำ ต่อจากตอนที่แล้ว

พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com

นับหนึ่งใหม่กับการเลี้ยงปลาอย่างถูกวิธี

ให้อาหารที่ไม่เหมาะสม
อย่างที่บอกไปหลายครั้ง ปลานั้นก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ มันมีทั้งปลากินเนื้อ ปลากินพืช ปลากินตะไคร่น้ำ ปลากินแมลง โลกของปลายังมีอะไรน่าทึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน เช่นปลากดหัวลิง (Ketengus typus) เป็นปลาที่กินเฉพาะเกล็ดของปลาตัวอื่น อาหารอื่นมันไม่สน หรือปลาวิมเพิลปิรันย่า (Catoprion mento) แห่งลุ่มแม่น้ำอเมซอนซึ่งก็คือปิรันย่าสายพันธุ์หนึ่ง อาหารหลักของมันคือครีบของปลาชนิดอื่นที่เชื่องช้ากว่า หรืออย่างปลากดปากกว้าง (Asterophysus batrachus) ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่น่ามหัศจรรย์
มันคือปลานักล่าที่น่าหวาดหวั่นสำหรับปลาอื่นเพราะสามารถฮุบเอาเหยื่อที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับมันหรือแม้กระทั่งใหญ่กว่าเข้าไปในปากอันมโหฬารได้อย่างง่ายดาย
เมื่อคิดจะเลี้ยงปลาแต่ละตัว ควรศึกษาสักนิดก่อนว่าพวกมันกินอะไรในธรรมชาติ และในตู้เลี้ยงควรจะใช้อะไรมาทดแทนดีหากว่าหาจากธรรมชาติไม่ได้ ปลาที่กินยากกินเย็นดูแล้ววุ่นแน่ถ้าจะเอามาเลี้ยง ก็ตัดใจอย่าไปเอามาลำบากลำบนเป็นภาระเราเลย แถมปลาเองก็ต้องมาทรมานไปกับเราด้วย บาปกรรมเปล่า ๆ เปลี่ยนไปมองปลาชนิดอื่นที่มีจริตต้องกันจะดีกว่า
แม้ว่าปลาสวยงามทั่วไปที่มีขายกันอยู่เป็นปลาเลี้ยงง่าย กินอาหารสำเร็จรูปทั่วไปไม่ยากเย็น แต่ก็ยังเป็นหน้าที่ของคนเลี้ยงที่จะต้องให้อาหารที่ดีและเหมาะสมสำหรับปลามากที่สุดกับมัน อาหารที่ดีไม่จำเป็นต้องแพง (แต่เผอิญว่าอาหารถูกมักจะไม่ค่อยได้เรื่อง) เพียงแต่เลือกพิจารณาสักหน่อย ศึกษาหาข้อมูลสักนิด อาหารปลาบางยี่ห้อมีสรรพคุณเกินความจำเป็น ผสมอะไรต่อมิอะไรเลิศหรูทำให้ราคาแพง บางชนิดมีคุณค่าทางอาหารเหมาะสมแต่ไม่เน้นสรรพคุณไฮโซราคาจึงถูก อาหารบางยี่ห้อเน้นเร่งสีสันชนิดสดจี๊ดจ๊าดในเวลาไม่กี่วัน อย่างนี้มั่นใจได้ว่าพี่ท่านผสมฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนหรือคลอโรฟิลลงไปด้วย อาหารสูตรนี้แพงแต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ เขาทำไว้สำหรับเร่งสีปลาในฟาร์มก่อนนำออกจำหน่ายเพื่อให้ปลาดูสวยจัดทุกตัว ถ้าเราเอามาเลี้ยงเข้าจริง ๆ ประเดี๋ยวสีก็ตกซีดตามเดิม
การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมกับปลา นอกจากมันจะไม่ค่อยชอบแล้วยังเกิดผลเสียต่อสุขภาพของปลาโดยตรงอีกด้วย ผมมักยกตัวอย่างปลาหมอครอสบรีดเพราะคนเลี้ยงกันเยอะและมีปัญหาตามมาประจำ ปลาหมอครอสบรีดเป็นปลาที่ผสมข้ามสายพันธุ์ของปลาหมอทวีปอเมริกากลางเช่นปลาหมอเรดเดวิล (Amphilophus citrinellus) ผสมกับปลาหมอไตรมาคูลาตัส (Nandopsis trimaculatus) กลายมาเป็นปลาหมอฟลาเวอร์ฮอร์น หรือปลาหมอเท็กซัส (Herichthys carpinte) ผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาหมอนกแก้ว (ซึ่งเป็นลูกผสมของปลาหมอซินสไปลุ่ม (Paratheraps synspilus) กับปลาหมอเรดเดวิล อีกที) ก็จะได้ปลาหมอเท็กซัสแดง อย่างนี้เป็นต้น เห็นได้ว่าต้นตระกูลของพวกมันล้วนเป็นปลากินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivore) ในธรรมชาติมันจะกินพวกลูกกุ้งลูกปลา พืชน้ำ สาหร่ายต่าง ๆ ตลอดจนถึงซากพืชซากสัตว์ แต่เมื่อเราเลี้ยงปลาหมอกลุ่มนี้ด้วยเนื้อล้วน ๆ แถมให้แบบยัดทะนานทุกมื้อด้วยเชื่อว่าจะทำให้โหนกสวยตัวหนาป้อม นานไปก็เกิดปัญหาโดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหารและตายลงในเวลาต่อมา ในความเป็นจริงแล้วอาหารที่เหมาะกับปลากลุ่มนี้ก็คืออาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบจากพืชและสัตว์ในสัดส่วนสมดุลย์ อาจให้เนื้อสัตว์สด ๆ เสริมบ้างแต่ไม่ต้องมาก และอาจเสริมด้วยพืชผักบางอย่างด้วยเช่นกัน

จัดสภาพแวดล้อมในตู้ไม่ถูกต้อง
ปลาแต่ละชนิดชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ปลาขนาดจิ๋ว ๆ อย่างคาร์ดินัลเตตร้า (Paracheirodon axelrodi) มักอยู่รวมกันเป็นฝูงท่ามกลางดงพืชน้ำหรือซากไม้ที่มีกิ่งก้านระเกะระกะเพื่อความปลอดภัย แต่ปลานักล่าบางอย่างเช่นปลาหมอออสซิลาริส (Cichla ocellaris) จะชอบอยู่ในที่โล่ง สอดส่ายสายตาอันดีเยี่ยมหาเหยื่อและเข้าโจมตีอย่างรวดเร็วด้วยกล้ามเนื้ออันทรงพลังกับรูปร่างที่ปราดเปรียว
เมื่อจะเลี้ยงปลาต้องพิจารณาถึงความเป็นอยู่จริง ๆ ในธรรมชาติของมันด้วย ปลาที่ต้องอยู่ร่วมเป็นฝูงในดงพืชน้ำเมื่อเอามาเลี้ยงในตู้โล่งไม่มีอะไรมาบดบังอำพรางเลยก็ย่อมเครียดเพราะกลัวอันตราย เมื่อเกิดความเครียดปลาก็จะไม่เปล่งสีสันอย่างที่ควรแถมจะเจ็บป่วยหรือตายเอาง่าย ๆ อีกด้วยทำนองเดียวกับปลาที่ต้องเลี้ยงในที่โล่งแต่ดันเอามาเลี้ยงในตู้ประดับประดากิ่งไม้ขอนไม้ ปลาย่อมรู้สึกอึดอัดคับแคบว่ายไม่ค่อยสะดวก เกิดความเครียดและป่วยตายได้ง่ายเช่นกัน
ปลาหมอสีทั้งจากทะเลสาบมาลาวีและทะเลสาบทังกันยิกาในธรรมชาติอยู่กับโขดหินและพื้นทราย การเลี้ยงจึงไม่จำเป็นต้องหาต้นไม้ขอนไม้มาประดับประดาเพราะแทนที่จะดูสวยกลับดูขัดแย้งไม่เป็นธรรมชาติ แถมปลาเองก็ไม่ชอบอีกด้วยเพราะขอนไม้มักขับแทนนินหรือยางไม้ออกมาทำให้ค่าพีเอช (ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง) ลดต่ำกว่าปรกติ
ทว่าตรงกันข้ามกัน ปลาหมอแคระจากทวีปอเมริกาใต้กลับชอบอยู่ท่ามกลางซากไม้ ท้องน้ำเป็นดินปนทรายมีใบไม้ที่ร่วงตกลงมาจากต้นไม้สูงใหญ่ริมตลิ่งทับถมกันชั่วนาตาปีจนหนาเป็นเมตร ๆ หากเอาปลากลุ่มนี้มาเลี้ยงโดยจัดสภาพแวดล้อมตามแบบปลาหมอจากทะเลสาบมาลาวีหรือทังกันยิกา รับรองได้เลยว่าไม่นานมันจะลาไปสวรรค์ด้วยความเซ็ง
การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับปลาที่เลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงมีข้อมูลพื้นฐานของปลาก็เพียงพอแล้ว เพราะโชคดีมากที่วัสดุจัดแต่งตู้ปลาในบ้านเรายังมีราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน กรวด ขอนไม้ประดับหรือวัสดุที่ไม่เป็นธรรมชาติอย่างดินเผา ก่อนจะซื้อต้องศึกษาก่อนจะได้ไม่ต้องเสียเงินซ้ำซ้อนหรือเหนื่อยแรงหิ้วสองหนสามหน ปลาเองก็ไม่ช้ำจากการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปมาบ่อย ๆ อีกด้วยครับ

ขาดสำนึกของคนเลี้ยงปลา
ข้อนี้เรียกได้เลยว่าสำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหนหรือศึกษาหาข้อมูลมาเต็มหัวเพียงใด แต่หากขาดสำนึกของคนเลี้ยงปลาก็ไปไม่รอดอยู่ดี สำนึกที่ว่ามันก็คือเรื่องของความรับผิดชอบ ความรักและความอดทน การจะเลี้ยงปลาสักตู้หนึ่งไม่ใช่แค่เห็นสวยดีก็ซื้อมา แต่ต้องถามตัวเองหลาย ๆ ครั้งว่าเราจะเลี้ยงมันไปได้ตลอดรอดฝั่งไหม จะสามารถเลี้ยงดูมันให้อยู่สุขสบายไม่อดมื้อกินมื้อไปจนมันหาชีวิตไม่แล้วหรือเปล่า ที่สำคัญ เราจะมีความสุขหรือไม่กับการเปลี่ยนถ่ายน้ำปลา การให้อาหารปลา การเฝ้าสังเกตดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าถามแล้วใจของเราตอบว่าไม่ไหวว่ะ ก็ขอให้เลิกล้มความคิดไปเสีย หาอย่างอื่นที่ไม่มีลูกติดพันทำจะดีกว่า บางคนเลี้ยงปลาเพราะมีหมอดูทัก ให้หาปลาทอง 9 ตัวมาเลี้ยงจะทำให้โชคดี ทั้งที่ใจจริงไม่เคยคิดอยากเลี้ยง พอเอามาแรก ๆ ก็พอดูแลไหวเพราะถ้ามันทำให้ชีวิตหน้าที่การงานดีขึ้นจริงก็คุ้ม แต่พอเลี้ยง ๆ ไปโดยขาดสำนึกของคนเลี้ยงปลา ไม่นานก็เบื่อหน่าย เป็นภาระ ต้องมาคอยเปลี่ยนถ่ายน้ำให้อาหาร ต้องคอยซื้อมาเติมเวลามันตาย (ที่ตายก็เพราะเลี้ยงไม่ถูกต้องนั่นเองแต่ไปเชื่อหมอดูว่าถ้าปลาตายแสดงว่ามันมารับเคราะห์แทนเรา) เลี้ยงไปบ่นไป มีความรู้สึกไม่ดีเวลาเห็นปลาเจ็บป่วย แถมถ้าเกิดว่าชีวิตไม่ดีขึ้นจริงอย่างหมอทำนายก็พาลเกลียดชังขี้หน้าปลาในตู้ขึ้นมาอีก บางคนเอาไปเทลงคลอง บางคนซาดิสม์มากกว่านั้นก็เทลงดินให้ตาย ๆ ไปซะภาระของตูจะได้หมด ๆ ไปซะที
อย่างนี้อย่าเลี้ยงตั้งแต่แรกดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น: