Our Fish

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปัญหาที่เรามักพบเจอประจำในการเลี้ยงปลา

พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com

นับหนึ่งใหม่กับการเลี้ยงปลาอย่างถูกวิธี

ปัญหาในการเลี้ยงปลาที่มักเจอกันประจำ
ปลาเป็นสัตว์เลี้ยงที่จัดได้ว่าใช้เวลาตัดสินใจซื้อเร็วกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น บางทีแค่เดินผ่านร้านขายปลา เห็นตู้กระจกสวย ๆ น้ำใส ๆ มีปลาว่ายดุกดิกน่ารักก็นึกชอบ สอบถามราคาแล้วไม่กี่สตางค์ก็ควักกระเป๋าซื้อได้ในทันที ต่างกับสัตว์เลี้ยงอย่างหมาหรือแมว การจะตัดสินใจเลี้ยงสักตัวหนึ่งต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะนอกจากราคาไม่ใช่ถูก ๆ แล้ว (โดยเฉลี่ยแพงกว่าปลาหลายเท่าตัวนัก) ยังต้องสำรวจดูความพร้อมของตัวเองอีกหลาย ๆ อย่าง เช่นสถานที่เลี้ยง วิธีการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะตามมาไม่น้อย
เมื่อปลาเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื้อง่ายคนก็พากันหันมาสนใจ เห็นปลาอะไรสวยก็ซื้อหาไปเลี้ยงตามความนึกชอบของตน คนขายปลาแนะนำอะไรก็เชื่อซื้อมาใส่มาลองด้วยอยากให้ปลาสวยเหมือนในร้านเขา ทว่าพอเลี้ยงไปได้หน่อยกลับเริ่มไม่สนุก เกิดปัญหาขึ้นหลายอย่าง ปลาตายบ้าง น้ำไม่ใสบ้าง ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเปลี่ยนน้ำในตู้บ้าง สารพัดปัญหาจนหลายคนนึกเซ็ง การเลี้ยงเริ่มเนือย ๆ สุดท้ายก็เลิกไปโดยปริยาย
ผมมีเพื่อนเป็นเจ้าของร้านขายปลา เมื่อมีเวลานั่งคุยกันมักหยิบประเด็นต่าง ๆ ของการเลี้ยงปลามาคุยกันเสมอ กรณีปัญหาที่มักเกิดกับมือใหม่ก็เช่นกัน ซึ่งเพื่อนมักเจอคำถามจากลูกค้าบ่อยมาก ดังนี้ครับ
1 ทำไมปลาที่ซื้อไป อยู่ ๆ ก็ตายโดยไม่มีเหตุผล
2 ทำไมน้ำในตู้ไม่ใส
3 ทำไมน้ำขุ่นเร็วต้องเปลี่ยนบ่อยมาก
4 ทำไมปลาไม่กินอาหารทั้ง ๆ ที่ปรกติกินเก่ง
5 ทำไมปลาถึงไล่กัดกันทั้งวันทั้งคืน ทั้งที่เวลาอยู่ที่ร้านไม่ยักเป็น

เหล่านี้เป็นคำถามยอดฮิตและมักมาพร้อมกับใบหน้าบึ้งตึงของลูกค้าด้วยคิดว่าร้านค้าหลอกขายอะไรสั่ว ๆ หรือแนะนำปลามั่ว ๆ ไปให้ ซึ่งกว่าจะแก้ไขทำความเข้าใจกันได้ก็ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ แต่ก็มีบางคนที่ไม่สนใจ ไม่รับฟังอะไรสักอย่าง ยืนกรานท่าเดียวว่าการเลี้ยงปลาไม่เห็นสนุกและเป็นภาระอย่างที่สุด อย่างนี้ก็จนใจครับ
ส่วนเรื่องปัญหานั้น ทุกข้อผมขอสรุปเป็นเรื่องเดียวแต่จำแนกเป็นข้อ ๆ อธิบายได้ดังนี้
เปลี่ยนถ่ายน้ำมากเกินไป
โดยปรกติการเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลาควรอยู่ที่ประมาณ 20-25% ต่อหนึ่งสัปดาห์หากเป็นตู้เล็ก และ 2-4 สัปดาห์ถ้าเป็นตู้ขนาดกลางเลี้ยงปลาไม่หนาแน่น ส่วนตู้ใหญ่ที่มีระบบกรองน้ำดีก็ยืดเวลาไปได้อีก นักเลี้ยงปลามือใหม่มักเปลี่ยนถ่ายน้ำเกินครึ่งหรือ 50% บางคนอนามัยจัดเล่นเสีย 100% โดยเข้าใจผิดคิดว่ายิ่งเปลี่ยนมากปลายิ่งชอบเพราะสะอาด ตรงกันข้ามครับ ปลาที่โดนเปลี่ยนน้ำในเปอร์เซ็นต์มากขนาดนั้นมักออกอาการซึม ไม่ว่ายน้ำ แนบครีบกับลำตัว หรือไม่ก็ออกอาการทุรนทุราย ขึ้นมาหายใจหอบผิวน้ำ ผ่านไปได้หน่อยปลาบางตัวที่อ่อนแอมากก็เริ่มป่วย โรคบางโรคจู่โจมปลาในช่วงอ่อนแอเช่นโปรโตซัวจุดขาว เมื่อเกิดโรคนี้กับปลาตัวใดตัวหนึ่งในตู้รับรองได้เลยครับว่ามันย่อมแพร่กระจายไปยังปลาตัวอื่นด้วยเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่อาจจะยังแสดงอาการออกมาไม่เท่ากันเท่านั้นเอง แค่ไม่กี่วันปลาจะเริ่มทยอยตาย ในที่สุดก็หมดตู้หากคนเลี้ยงยังไม่ยอมแยกออกมารักษาให้ทันท่วงที
ใส่น้ำยาสารพัดหลังเปลี่ยนถ่ายน้ำ
ด้วยความเข้าใจที่ผิดหรือไม่ก็ถูกแนะนำมาอย่างผิด ๆ จากร้านขายปลาบางร้าน ว่าหลังเปลี่ยนน้ำใหม่ให้เติมน้ำยาทั้งปรับสภาพน้ำใส น้ำยาฆ่าเชื้อโรค น้ำยาฆ่าคลอรีน ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งความจริงแล้วของพวกนั้นไม่ได้จำเป็นเลยหากเราเปลี่ยนถ่ายน้ำถูกวิธี (อย่างที่เพิ่งจะพูดถึงตะกี้) น้ำยาฆ่าคลอรีนมีไว้ในกรณีเร่งด่วน เช่นตู้ที่เลี้ยงเกิดแตกกระทันหันน้ำไหลออกหมดตู้ จึงมีความจำเป็นต้องเปิดน้ำประปามาใช้กันปลาตาย อย่างนี้ก็พอได้ครับ ไม่ใช่ว่าใส่ทุกครั้งหลังถ่ายน้ำ สารเคมีพวกนี้จริง ๆ แล้วก็คือโซเดียมไธโอซัลเฟต สามารถทำให้คลอรีนระเหยออกไปจากน้ำได้ส่วนหนึ่ง แต่ตัวยาเองกลับตกค้างและส่งผลร้ายต่อเหงือกของปลาได้ในระยะยาว
ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสีเขียว ๆ ก็คือมาลาไคท์กรีน เป็นสารเคมีสำหรับรักษาโรคเชื้อราและกำจัดพยาธิภายนอกบางอย่าง ซึ่งตัวสารเคมีเองก็เป็นพิษหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้เนื่องจากมาลาไคท์กรีนเป็นสารก่อมะเร็ง ห้ามสูดดมหรือสัมผัสโดนผิวหนังโดยเด็ดขาด ตู้ปลานั้นถ้ามันยังปรกติดีก็ไม่จำเป็นต้องไปฆ่าเชื้อโรคอะไร ในธรรมชาติปลาสามารถอยู่ในแหล่งน้ำร่วมกับเชื้อโรคได้เช่นเดียวกับที่เราอาศัยอยู่ท่ามกลางอากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรคเช่นกัน เพียงแต่เราต้องคอยดูแลให้ปลาแข็งแรงมีสุขภาพดี มีความต้านทานโรคดี ไม่ป่วยง่าย เพียงเท่านี้ก็พอแล้วครับ
น้ำยาปรับสภาพน้ำใสก็เป็นอีกตัวที่ร้านขายปลายุให้ซื้อกันนักทั้งที่ไม่จำเป็นเลย มันก็คือสารส้มดี ๆ นี่เอง บางสูตรอาจผสมเมทิลินบลูไปด้วยให้มีสีฟ้าอ่อน ๆ บางคนใช้แล้วติดใจบอกว่าสวยเหมือนน้ำทะเล (น้ำทะเลมันมีสีฟ้าตรงไหน?) ปัจจัยที่ทำให้น้ำในตู้ใสหรือไม่ขึ้นอยู่กับระบบกรอง จำนวนปลาและการให้อาหาร ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มเติมอะไรให้วุ่นวายอีก
เลี้ยงปลาหลากชนิดเกินไป หรือเลี้ยงปลาที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
สรุปว่าเลี้ยงปลามั่วเพราะความที่ไม่รู้ เห็นปลาอะไรสวยก็ซื้อมาใส่รวมกัน ไม่กี่วันเป็นต้องเห็นศพลอยเท้งเต้งเพราะกัดกันตายบ้าง รบกวนกันจนเกิดความเครียดจัดจนป่วยตายบ้าง
ก่อนจะซื้อปลา ควรศึกษาหาความรู้คร่าว ๆ เกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาที่อยากเลี้ยงเสียก่อน ว่าจะสามารถเลี้ยงมันได้ในตู้ของเราหรือไม่ หรือหากมีปลาเดิมอยู่ก่อนแล้วมันจะสามารถลงไปอยู่ร่วมกันได้หรือเปล่า ตรงนี้มักไม่ค่อยใส่ใจ จนเกิดปัญหาเข้าถึงค่อยมานั่งกลุ้มว่าจะทำอย่างไรดี
ปลาหลายชนิดรูปร่างหน้าตาบ้องแบ๊วออกแนวน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม แต่จริง ๆ แล้วดุโคตร ไล่กัดกันได้ทั้งวันหากเลี้ยงในระบบที่ไม่ถูกต้อง เช่นปลาเสือสุมาตรา (Barbus tetrazona) ปลาหมอสีขนาดเล็กจากทะเลสาบมาลาวี (Lake Malawi Cichlid) พวกนี้สีสวยงาม แต่ต้องเลี้ยงเป็นฝูงในตู้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ หากอยู่ในที่แคบจะดุร้ายมาก ทั้งไล่กัดกันเองในกลุ่มเดียวกันและกัดปลาตัวอื่น ๆ ในตู้ด้วย
ปลาบางชนิดนิสัยไม่ดุ ทว่าลักษณะการหากินของมันไม่สอดคล้องกับปลาบางชนิดเช่นปลาซัคเกอร์ (Suckermouth Catfish) หรือบรรดาปลาปากดูดกินตะไคร่ทั้งหลาย ไม่สามารถนำมาเลี้ยงรวมกับปลาในกลุ่มปลาทอง (Goldfish) ได้เลย เนื่องจากปลาปากดูดมักมีประสาทสัมผัสรับกลิ่นไวและจะพุ่งเข้าหาแหล่งอาหารทันทีที่ได้กลิ่น ปลาทองเป็นปลาเชื่องช้าอุ้ยอ้าย หากเลี้ยงร่วมกันมักโดนปลาซัคเกอร์ดูดเมือกข้างตัวอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ปลาจะเครียดจัด เหนื่อย และในที่สุดก็เริ่มอ่อนแอล้มป่วย ตายได้ในเวลาไม่นาน
ดังนั้นหากยังไม่แน่ใจ ควรสอบถามข้อมูลจากร้านขายปลา หรือค้นหาจากแหล่งข้อมูลอื่นเช่นหนังสือหรืออินเตอร์เน็ตเสียก่อนค่อยตัดสินใจซื้อมาเลี้ยงครับ
อ่านต่อ ตอนหน้านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: