Our Fish

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การให้อาหารปลา 1

พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com


การให้อาหารปลา
ปลาเป็นสัตว์น้ำที่มีความหลากหลาย ถึงแม้อาศัยอยู่ในน้ำเหมือนกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างมากมายนับไม่ถ้วน เช่น มีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ชนิด กินอาหารแตกต่างกัน มีที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน มีอุปนิสัยแตกต่างกัน ฯลฯ อาหารของปลาแต่ละชนิดต้องมีคุณค่าทางโภชนาการตามที่มันได้รับจากอาหารที่มันกินตามธรรมชาติ เช่นปลากินพืชก็ควรให้อาหารที่มีส่วนประกอบของพืชเป็นหลัก ปลากินเนื้อก็ต้องเป็นอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นต้น หากเราให้อาหารที่มีสัดส่วนโภชนาการหรือคุณค่าไม่เหมาะสมหรือดีพอ ปลาก็อาจจะกินโดยไม่บ่น (เพราะบ่นไม่ได้) แต่พอเลี้ยงไปนานเข้าก็เริ่มเกิดปัญหาเช่นปลาอ่อนแอ ติดโรคง่าย สีสันหรือรูปร่างไม่สวยงาม ที่สำคัญคืออายุสั้น ตายเร็ว
ผมขอยกตัวอย่างกรณีผู้เลี้ยงปลาหมอสีครอสบรีด ซึ่งมักเข้าใจผิดคิดว่าปลากลุ่มนี้กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร จึงประเคนกุ้งฝอยบ้าง หนอนนกบ้าง หนอนแดงแช่แข็งบ้าง ให้มันโซ้ยทุกวันโดยเชื่อว่าจะทำให้โตเร็วสีสวย มุกมาร์คโหนกขึ้นปึ้ก แน่นอนครับว่าเป็นเช่นนั้น แต่ก็ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง พอเลี้ยงไปอีกสักหน่อยปลาชักเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ท้องบวม ทรงตัวลำบาก บางตัวต้องเข้าแข่งขันประเภทตีกรรเชียงเพราะว่ายแบบปรกติปลาทั่วไปไม่ได้แล้ว เป็นเช่นนี้ไม่นานก็ตาย เจ้าของก็ล้างตู้แล้วไปหาตัวใหม่มาเลี้ยงด้วยวิธีการเดิม ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกเป็นวัฏจักรเพราะไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถูกวิธี
อันที่จริงปลาหมอครอสบรีดเป็นปลากินอาหารหลากหลาย กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorus) ต้นกำเนิดปลาลูกผสมเหล่านี้มาจากปลาหมอสีกลุ่มอเมริกากลางหรือในสกุล Cichlasoma เดิม ปลากลุ่มนี้กินพืชน้ำ เมล็ดพืช ซากพืชซากสัตว์ ปลาและกุ้งขนาดเล็ก เป็นอาหารหลัก (เหมือนปลาหมอไทยบ้านเรา) เพราะฉะนั้นการให้แต่เนื้อสัตว์อย่างเดียว แถมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ย่อมต้องส่งผลเสียต่อสุขภาพปลาอยู่แล้ว
ในทางกลับกันปลาบางอย่างเป็นปลากินเนื้อสัตว์อย่างเดียวตามธรรมชาติ แต่เรากลับเอาอาหารที่พืชเป็นส่วนประกอบให้มันกิน นานเข้าก็เกิดอาการไม่แคล้วกัน
สรุปสั้น ๆ ว่า ควรให้ปลาได้กินอาหารใกล้เคียงกับธรรมชาติของมันมากที่สุด
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าปลาอะไรกินอะไร คำตอบคือย้อนไปอ่านตอนที่ 4 (ฉบับที่แล้ว) คือเรื่องข้อมูลของปลาที่อยากเลี้ยง แค่นี้ก็พอจะแก้ปัญหาได้แล้วล่ะครับ

หากจะแบ่งปลาออกเป็นประเภท ๆ ตามลักษณะการกินก็สามารถจำแนกได้คร่าว ๆ ดังนี้
1 ปลากินเนื้อ (Carnivores)
2 ปลากินพืช (Herbivores)
3 ปลากินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ (Omnivores)

ปลากินเนื้อ (Carnivores) คือปลาที่กินเฉพาะเนื้อสัตว์อย่างเดียว พืชไม่แตะเลย พวกมันอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้อีกเช่น ปลากินปลาด้วยกัน (Piscivores) และปลากินแมลง (Insectivores) ปลากลุ่มนี้อยู่ในฐานะนักล่า มีหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ซึ่งเป็นเหยื่อของมันไม่ให้แพร่ขยายจำนวนมากจนเกินสมดุลย์ระบบนิเวศ ตัวอย่างของปลากลุ่มนี้ได้แก่ ปลาอะโรวาน่า (Genus Osteogrossum, Genus Scleropages) ปลาช่อนชนิดต่าง ๆ (Genus Channa, Genus Parachanna) ปลากัด (Betta splenden) ปลาเสือพ่นน้ำ (Toxotes jaculatus) ฯลฯ การให้อาหารจึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกสรรค์เพื่อให้ปลาได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่มันจำเป็นต้องใช้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ซึ่งแน่นอนว่าอาหารนั้นคงหนีไม่พ้นเนื้อสัตว์ เช่นลูกกุ้ง ลูกปลา หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ ตลอดจนอาหารแปลก ๆ ที่เริ่มได้รับความนิยมเช่นหนอนนกและจิ้งหรีด
โชคดีที่ปลากินเนื้อส่วนใหญ่สามารถปรับตัวมากินอาหารสำเร็จรูปได้ และโชคดีชั้นที่สองก็คือเดี๋ยวนี้มีอาหารสำเร็จรูปสำหรับปลากินเนื้อโดยเฉพาะจำหน่าย จึงง่ายและสะดวกกว่าก่อนเยอะทีเดียว แต่เห็นหลายคนยังคงใช้อาหารสด ๆ เป็น ๆ กันอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นิยมชมชอบ Exotic Fish หรือปลากินเนื้อหน้าตาแปลก ๆ
ปลากินเนื้อบางตัวยอมตายดีกว่าจะปรับตัวมากินอาหารเม็ด เช่นปลาหมอออสเซลาริส (Cichla ocellaris) ปลาสคอมเบอรอยเดส (Hydroryncus scomberoides) หรือปลาเสือตอ (Coius pulcher, Coius microlepis) การเลี้ยงปลาพวกนี้จึงไม่ควรฝืน จำต้องให้กินตามอย่างที่มันกินในธรรมชาติคือสัตว์น้ำมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น ทว่าถึงอย่างไรก็ตาม ออสเซลาริสและเสือตอก็ยังจัดได้ว่าสามารถฝึกให้กินเนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้น ๆ ได้ แต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
ปลากินพืช (Herbivores) ฟังดูออกหน่อมแน้มหน้าตาคงเจี๋ยมเจี้ยมจืดชืด ทว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ ปลากินพืชก็มีความหลากชนิดพันธุ์และสายพันธุ์สูงเช่นเดียวกับปลากินเนื้อ บางชนิดสวยงามมากเช่นกลุ่มปลาหมอสกุลโทรเฟียสในทะเลสาบทังกันยิกาและสกุลซูโดโทรเฟียสในทะเลสาบมาลาวี บางชนิดก็ดูแปลกประหลาดไปเลยเช่นปลาซัคเกอร์หลาย ๆ ชนิด
ปลากินพืชจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากพืชเป็นองค์ประกอบใหญ่ ระบบการย่อยของพวกมันทำงานค่อนข้างซับซ้อนกว่าในปลากินเนื้อ ดังนั้นหากเราให้อาหารผิดประเภทคือไปให้อาหารที่มีโปรตีนสัตว์มากเกินไปปลามักจะเกิดอาการผิดปรกติ เช่นตัวบวม ท้องอืด หายใจหอบ และมักจะตายภายในเวลาอันสั้น
ปลากินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivores) ปลากลุ่มนี้เลี้ยงง่ายที่สุดเพราะสามารถกินได้หลากหลาย ให้อะไรก็ได้ไม่มีปัญหา ขอเพียงเลือกสรรค์อาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนก็ถือว่าโอเค และโดยส่วนใหญ่อาหารสำเร็จรูปที่ผลิตขายกันในปัจจุบันก็เรียกได้ว่ามีคุณสมบัติดังกล่าวเพียงพอ ปลากลุ่มนี้มีอยู่ราว 90% ของบรรดาปลาสวยงามที่เลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้เลยล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: