Our Fish

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลา

Siphon หรือตัวดูดน้ำ อุปกรณ์ที่จะดูดเอาเฉพาะฝุ่นเบาๆ มูลปลาและอินทรีย์วัตถุขึ้นมาเท่านั้น ทำให้การ เปลี่ยนน้ำเป็นเรื่องง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้

พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com

การเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลา

สมัยเด็กผมเลี้ยงปลาทองไว้ในขวดโหล เป็นโหลแบบที่เขาใช้ใส่ขนมหวานน้ำแข็งใสประเภทนั้น ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ริมคลองจึงตักน้ำจากคลองนั่นแหละมาเลี้ยง มันก็ขุ่นไปตามประสาน้ำคลองแต่ก็ยังพอมองเห็นไม่ลำบาก อาหารก็เน้นเป็นลูกน้ำซึ่งไม่ต้องเสียสตางค์ เครื่องปั๊มลมสำหรับให้ออกซิเจนก็ไม่มี เมื่ออาหารมาก พื้นที่แคบแถมยังไม่มีอุปกรณ์กรองน้ำและออกซิเจน ของเสียหรือพูดง่าย ๆ คือขี้ปลาจึงเยอะ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย วิธีการเปลี่ยนน้ำของผมง่ายมากครับ คือตักปลาออกมาใส่ขัน เอาโหลไปล้างที่กะไดท่าน้ำ แกว่ง ๆ ถู ๆ เสร็จแล้วก็ใช้น้ำคลองนั่นแหละมาเลี้ยงปลาใหม่ ก็เห็นอยู่สุขสบายดีจนกระทั่งหมดอายุขัยในอีกหลายปีต่อมา

วิธีเลี้ยงแบบเดียวกัน ทว่าเปลี่ยนจากบ้านริมคลองมาเป็นบ้านกลางเมืองใหญ่ซึ่งต้องใช้น้ำประปา กลับกลายเป็นว่าปลามักตายอยู่เรื่อย ทั้งที่ประคบประหงมอย่างดี อาหารรึก็ใช้ของแบรนด์เนม น้ำก็เปลี่ยนถ่ายบ่อย ขัดล้างกระจกใสปิ๊งทุกครั้ง แต่ทำไมยังตายอยู่ได้
คำตอบก็คือเรื่องของน้ำนั่นเอง
น้ำคลองถึงแม้ดูไม่สะอาดสำหรับคน แต่กับปลาส่วนใหญ่แล้วถือว่าสวรรค์ เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุวิตามินเกลือแร่อะไรต่อมิอะไรที่สัตว์น้ำอย่างพวกมันต้องการ ตรงข้ามกับน้ำประปาซึ่งมีคลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อโรคทำให้สะอาดสำหรับคน แต่ก็คือยาพิษดี ๆ นี่เองสำหรับปลา เมื่อปลาถูกย้ายลงมาอยู่ในน้ำที่มีคลอรีน แม้ว่าเพียงเล็กน้อย แต่ปลาก็จะแสดงอาการทุรนทุราย ว่ายหนี หรือซุกตัวนิ่งหายใจหอบ หากปลานั้นใหญ่โตหรือมีความแข็งแรงมากพอ มันก็อาจทนอยู่ได้ซึ่งแน่นอนมันไม่ชอบหรอก แต่ถ้าเป็นปลาเล็กหรือปลาบอบบางก็อาจถึงตายภายในเวลาไม่นานนัก
ปลาที่แพ้น้ำใหม่หรือแพ้คลอรีนจะไม่ได้ตายในทันที อาการมักค่อย ๆ ก่อตัวโดยใช้เวลาสักระยะ ช้าเร็วขึ้นอยู่กับความทนทานของตัวปลาเองและปริมาณคลอรีนที่ปนมากับน้ำ พอคนเลี้ยงเห็นว่าปลาตายจึงไม่ได้เฉลียวใจว่าไอ้ที่ตายเนี่ยมันเกิดจากน้ำมือของเราเอง กลับตรงรี่ไปต่อว่าร้านขายปลาที่ซื้อมา หาว่าเขาขายปลาเป็นโรคให้อย่างโน้นอย่างนี้
การเปลี่ยนถ่ายน้ำถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลา เป็นหัวใจหลัก ๆ เลยที่จะทำให้ปลาอยู่ดีมีความสุข นอกจากนั้นการเปลี่ยนถ่ายน้ำยังทำให้ทัศนวิสัยในการมองปลาในตู้ดูดีขึ้นด้วย แต่การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้โดยไร้หลักการกฏเกณฑ์ มันมีวิธีการ ซึ่งว่าไปแล้วง่ายและสะดวกมากหากเราทำความเข้าใจสักนิด

ก่อนเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ควรรู้อะไรก่อน?
1 รู้ว่านานแค่ไหนถึงควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำ
โดยมากแล้ว ความถี่ของการล้างตู้ปลาจะขึ้นอยู่กับขนาดของตู้เลี้ยงและจำนวนปลา หากตู้ใหญ่มาก เช่น 48 นิ้วขึ้นไปและมีระบบกรองน้ำที่ดี การเปลี่ยนถ่ายน้ำอาจยาวนานเป็นสองสัปดาห์ต่อครั้งหรือนานกว่านั้น แต่ไม่ควรเกินหนึ่งเดือน นอกจากว่าเป็นตู้อลังการงานสร้าง จุน้ำทีละหลาย ๆ ตัน มีระบบกรองใหญ่เท่าห้องนอน อย่างนี้ปล่อยไว้เป็นปีก็ยังได้กว่าจะล้างกันสักครั้งหนึ่ง

2 รู้ว่าน้ำใหม่ที่จะเปลี่ยนลงตู้ปลาเป็นน้ำแบบไหน
ส่วนใหญ่แล้วหนีไม่พ้นน้ำประปา ซึ่งมีทั้งใช้แบบเพียว ๆ กับผ่านเครื่องกรองหรือถังพัก ซึ่งแบบหลังนี้จะช่วยลดคลอรีนไปได้ค่อนข้างมากหรือลดได้ทั้งหมด การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ทำได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องระมัดระวังอะไรกันมากมาย แต่หากไม่มีเครื่องกรองหรือถังพักน้ำ ก็จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนถ่ายครั้งละน้อย และทำให้บ่อยครั้ง ที่สำคัญอีกประการคือเรื่องของอุณหภูมิ บางบ้านใช้ถังพักน้ำก็จริง ทว่าถังไปอยู่กลางแดดหรือใกล้แดด น้ำที่เติมเข้ามาในตู้ไม่มีคลอรีนแต่ร้อนจี๋ อย่างนี้ปลาก็ตายได้เช่นกัน แถมยังอาจจะไวกว่าคลอรีนเสียอีก สุภาษิตที่ว่าน้ำร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย ผมไม่เห็นว่ามันจะจริงเสียทีครับ

3 รู้ว่าปลาที่เลี้ยงเป็นชนิดอะไร
เพราะปลาแต่ละชนิดมีสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติไม่เหมือนกัน บางชนิดชอบน้ำใหม่ บางชนิดไม่ค่อยชอบ ปลาที่ชอบน้ำใหม่ อย่างปลาทอง ปลาคาร์พ ก็สามารถเปลี่ยนถ่ายได้ครั้งละมาก ๆ ส่วนปลาที่ชอบน้ำเก่าต้องเปลี่ยนให้บ่อยแต่เปอร์เซ็นน้อยกว่า เช่นแทนที่จะเปลี่ยนครั้งละ 30% ก็ลดลงเหลือ 10% ไม่เช่นนั้นปลาอาจช็อคน้ำชักดิ้นชักงอได้ ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ได้แก่ปลาที่มาจากป่าพรุหรือปลาจากลำธารในป่าอเมซอน เป็นต้น

เมื่อรู้เขารู้เราแล้วก็เริ่มลากสายยางมาเปลี่ยนถ่ายน้ำกันได้เลย ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลาก็มีง่าย ๆ ดังนี้ครับ
1 ดึงปลั๊กไฟออกให้หมดเสียก่อน
2 ใช้ฟองน้ำเช็ดกระจกด้านในทั้งสี่ด้าน หรือถ้าลำบากเอื้อมไม่ถึงด้านหลังก็เอาเหลือสามด้านก็ได้ หรือยังลำบากอยู่อีกก็เอาเฉพาะด้านหน้าด้านเดียว ถ้ายังลำบากมากกว่านี้แนะนำให้เลิกเลี้ยงไปเลยครับ การเช็ดต้องทำช้า ๆ ระมัดระวังไม่ให้ปลาตื่นตกใจ เช็ดวนเป็นวงกลม ๆ ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะสะอาดกว่าเช็ดแบบกวาดพสุธาซ้ายทีขวาที
3 ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาทีเพื่อให้เศษสิ่งสกปรกในน้ำตกตะกอน
4 ใช้อุปกรณ์ดูดน้ำหรือที่เรียกว่า “ไซฟอน” ต่อกับสายยาง ดูดเอาน้ำและสิ่งสกปรกออกจากบริเวณกรวดหิน วิธีใช้ไซฟอนต้องครอบมันลงไปตรง ๆ ทะลุผ่านชั้นกรวด ฝุ่นตะกอนที่ซุกอยู่ภายใต้กรวดจะถูกดูดออกมาได้โดยที่เราไม่ต้องไปรื้อคุ้ยด้วยมือให้ฟุ้งวุ่นวาย ย้ายตำแหน่งไซฟอนไปให้ทั่ว ๆ ตู้ คะเนว่าน้ำออกจากตู้ไปแล้ว 20-30% ก็ควรหยุดแค่นั้น แม้ยังมีสิ่งสกปรกให้จัดการต่อก็อย่าโลภ เดี๋ยวปลาจะแย่
5 จัดตกแต่งตู้ตามใจ จะเปลี่ยนต้นไม้ใหม่หรือหินก้อนใหม่ก็เชิญได้ในตอนนี้ แต่ต้องค่อย ๆ ทำเพื่อไม่ให้ปลาตื่นและฝุ่นฟุ้งกระจาย
6 เอากระชอนตักเศษใบไม้หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ต้องการออกมาให้หมด
7 เติมน้ำ ต้องเปิดน้ำให้ไหลลงกับก้อนหินหรือหาอะไรมารองรับเช่นขันน้ำพลาสติกเพื่อลดแรงกระแทกของน้ำ
8 ตรวจดูระดับน้ำ ไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ยิ่งตู้ที่ใช้กรองมุมต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าน้ำน้อยเกินปั๊มน้ำอาจพังเพราะความร้อน แต่ถ้าน้ำมาก กระบวนการกรองก็จะไม่สมบูรณ์ เสร็จแล้วก็เก็บของ เช็ดทำความสะอาดกระจกตู้ด้านนอก เป็นอันเสร็จสิ้น

เห็นได้เลยครับว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำทำความสะอาดตู้ปลาเป็นเรื่องที่ง่ายจริง ๆ ผมเคยคุยกับนักเลี้ยงปลามือใหม่ที่มีปัญหาเรื่องปลาตายบ่อยครั้ง แทบร้อยทั้งร้อยมักไม่รู้วิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่จะตักปลาออกจากตู้ก่อน ตามด้วยกรวดหินประดามีที่ใช้ตกแต่งแถมยังรื้อวัสดุกรองออกมาล้างตากแดด เสร็จแล้วจึงขัดตู้จนเอี่ยม กว่าจะเอาของต่าง ๆ กลับลงไปตามเดิม เติมน้ำใหม่ ๆ ร้อยเปอร์เซ็น ก็หลายชั่วโมง ยิ่งตู้ขนาดใหญ่บางทีใช้เวลาทั้งวัน เสียเวลาไปเปล่า ๆ แถมปลาก็ยังตายอยู่เรื่อย

ไม่มีความคิดเห็น: