Our Fish

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โรคจุดขาว แขกประจำยามฤดูหนาวในตู้ปลา

เหมือนเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้ว ว่าพอเข้าฤดูหนาวคราวใดผมเป็นอันต้องเขียนเตือนเกี่ยวกับโรคปลา โดยเฉพาะโรคจุดขาว ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมอันดับหนึ่ง พูดได้เต็มปากว่าคนเลี้ยงปลาไม่ว่าใครก็ตามต้องได้พบเจอะเจอโรคนี้กันทุกคน
                โรคจุดขาวคือโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชื่อ Ichthyophthirius multifilis มีวงจรชีวิตระยะสั้น แต่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็มโดยการแบ่งตัว โปรโตซัวนี้เรียกกันสั้น ๆ ว่า อิ๊ค เมื่อเข้าสู่ตัวปลาจะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือเป็นจุดสีขาวเล็กละเอียดตามบริเวณครีบและลำตัว คล้ายผงเกลือป่น ถ้าเป็นมากจะมีเมือกขุ่น ๆ ปกคลุม ปลาที่ได้รับเชื้อนี้จะมีอาการซึม บางตัวก็กระวนกระวาย คอยเอาเอาไถลกับพื้นตู้ตลอดเวลา หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา เพียงแค่ไม่กี่วันจุดขาวจะลามเต็มตัวและปลาก็จะตาย โรคจุดขาวเป็นโรคระบาด การที่ปลาตัวหนึ่งติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการแยกออกไปในทันที เมื่อเชื้อเติบโตมีการแบ่งตัวขยายพันธุ์อย่างสมบูรณ์มันก็จะเข้าโจมตีปลาตัวอื่น ๆ ในตู้เดียวกันด้วยเช่นกัน
                ว่าแต่ทำไมโรคนี้ถึงได้ชอบแพร่ระบาดในช่วงหน้าหนาว นั่นก็เพราะในหน้าหนาวอุณหภูมิจะเย็นลงกว่าปรกติ ปลาส่วนใหญ่เป็นปลาที่ถูกเลี้ยงในอุณหภูมิค่อนข้างสูง (ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส) และคงที่ในฤดูอื่น พอเข้าหน้าหนาวอุณหภูมิตกวูบลงมาหลายองศาโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ปลาบางตัวโดยเฉพาะปลาขนาดเล็กและปลาที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมไม่ดีนักก็จะเริ่มอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันน้อยลง เชื้อโปรโตซัวจุดขาวก็เข้าโจมตีได้อย่างง่ายดาย
                สภาพแวดล้อมไม่ดีที่เอื้อต่อการเกิดโรคจุดขาวได้แก่
1 ตู้ปลาขนาดคับแคบเกินไป
2 เลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป
3 น้ำสกปรก ไม่ค่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำ
4 ย้ายปลาจากที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่งโดยไม่ปรับสภาพน้ำและอุณหภูมิเสียก่อน
5 เลี้ยงปลาที่ไม่สามารถเข้ากันได้ในตู้เดียวกัน

อธิบายตามลำดับนะครับ
1 ตู้ปลามีขนาดคับแคบเกินไป
ตู้ที่เล็กเกินไปจุน้ำได้น้อย นอกจากจะทำให้ปลาอึดอัดแล้วยังทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมเร็วเนื่องจากปลาขับถ่ายของเสียและหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้ว แถมอุณหภูมิของน้ำยังแปรเปลี่ยนปุบปับจนปลาปรับตัวไม่ทันจึงอ่อนแอและติดเชื้อง่าย
วิธีที่ถูก ควรเลี้ยงปลาในตู้หรือภาชนะที่มีขนาดพอสมควร ปลาส่วนใหญ่ (ยกเว้นปลากัด) ต้องการพื้นที่มากกว่าขนาดตัวของมันหลายสิบเท่า ตู้ขนาดเล็กสุดที่เลี้ยงปลาได้แบบไม่ค่อยมีปัญหาคือตู้ 24 นิ้ว หรือหากเป็นตู้เล็กกว่านี้ก็ต้องระมัดระวังเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หากไม่แน่ใจก็อาจใช้ฮีทเตอร์ติดตั้งไว้ก็ได้ เดี๋ยวนี้ราคาถูกซื้อสบายหน่อย
2 เลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป
แม้จะเลี้ยงปลาในตู้ขนาดใหญ่ แต่หากปริมาณปลาที่เลี้ยงหนาแน่นมากเกินไปก็จะทำให้ปลาอ่อนแอติดเชื้อจุดขาวง่ายเช่นกัน เนื่องจากปลาอยู่กันอย่างเบียดเสียด แย่งพื้นที่ว่ายน้ำ แย่งอากาศ แย่งอาหาร ปริมาณของเสียก็มากจนระบบกรองไม่อาจบำบัดได้ทัน ปลาใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าคอยระรานปลาที่เล็กและอ่อนแอกว่า ปลาอ่อนแอเมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ก็ออกอาการแย่ เริ่มป่วยไข้ก่อนใคร เชื้อจุดขาวเข้าถามหาและจะขยายตัวรุกลามไปยังเพื่อนร่วมตู้ตัวอื่น ๆ ที่แม้จะแข็งแรงกว่าก็ตามที
วิธีที่ถูก ต้องพยายามควบคุมปริมาณปลาในตู้ไม่ให้หนาแน่นมากเกินไป และอย่าเลี้ยงปลาที่มีขนาดต่างกันมากนัก
3 น้ำสกปรก ไม่ค่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำ
นักเลี้ยงปลาหลายท่านมักเป็นโรคขี้เกียจ บางท่านเชื่อสรรพคุณตู้ปลาวิเศษที่ว่าไม่ต้องล้างไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ แค่เติมน้ำอย่างเดียวก็พอ มันจะไปมีได้ยังไงล่ะครับ ตู้ปลาแทบทั้งหมดที่วางขายตามร้านล้วนแล้วแต่มีระบบกรองจำกัดจำเขี่ย ประโยชน์คือไม่ให้ดูรกเกะกะเพราะถ้าระบบกรองใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่าใครเขาจะซื้อไปประดับบ้าน บางท่านไม่ขี้เกียจ แต่ไม่ค่อยมีเวลา ได้แต่โยนอาหารให้อย่างเดียวนานติดต่อกันเป็นเดือน ปลาอาจอยู่ได้ด้วยความอึดของมัน แต่นานเข้าเมื่อถึงจุดวิกฤติหรือมีอะไรมากระตุ้นเช่นความเครียดและสภาพอากาศที่เย็นลง ก็จะเริ่มมีแขกไม่พึงปรารถนามาเยือน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น คือเจ้าโรคจุดขาวอันร้ายกาจนั่นเอง
วิธีที่ถูก การเลี้ยงปลาต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ อย่างน้อยสองสัปดาห์ต่อครั้ง ๆ ละไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำในตู้ อย่าเปลี่ยนทั้งหมด อย่าย้ายปลาออกมา การเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ถูกวิธีนั้นง่าย ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญ ถ้าคิดว่าตัวเองไม่มีเวลาพอสำหรับการดูแลและไม่มีใครมาดูแลให้ก็ขอแนะนำว่าอย่าเลี้ยงปลาเลยครับ จะเป็นบาปเป็นกรรมเสียเปล่า ๆ
4 เลี้ยงปลาที่ไม่สามารถเข้ากันได้ในตู้เดียวกัน
เช่นเลี้ยงปลาเทวดาที่ดูบอบบางครีบยาวสลวยรวมกับปลาเสือสุมาตราจอมเกเร เลี้ยงปลาจิ๋ว ๆ อย่างพวกปลานีออนเตตร้า ปลาคาร์ดินัลเตตร้า รวมกับปลานิสัยระรานอย่างปักเป้าแคระ (Yellow Dwarf Puffer) เลี้ยงปลาทองกับปลาซัคเกอร์จอมดูด เลี้ยงปลาหางนกยูงรวมกับปลาหมอสีทะเลสาบมาลาวี ฯลฯ  การเลี้ยงแบบนี้ก็เหมือนจับเอากวางมาเลี้ยงกับหมาใน เอานกมาเลี้ยงกับแมว ไม่นานปลาที่อ่อนแอบอบบางกว่าก็ย่ำแย่เนื่องจากถูกระรานตลอดวันละ 24 ชั่วโมง (นอกเสียจากตู้ของท่านกว้างขวางโอ่โถงอย่างมาก) อันเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายอย่างยิ่ง
ถึงแม้ได้ชื่อว่าปลา แต่ปลาก็เป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายทั้งรูปร่างลักษณะ สภาพการดำรงชีวิตและอุปนิสัย ปลาบางชนิดแม้มีขนาดเล็กแต่ก็นิสัยดุร้ายก้าวร้าว เช่นปลาเสือสุมาตรา ปลาคิลลี่ ปลาบางชนิดตาไม่ดีแต่จมูกไวอย่างวายร้ายเช่นปลาซัคเกอร์ซึ่งเป็นแคทฟิชชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการกินอาหารได้ทุกรูปแบบ ทั้งพืช สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ตลอดจนถึงไข่ปลา ซากสัตว์ตาย หรือแม้กระทั่งเปลือกไม้มันก็ยังจะกิน หลายท่านไม่ทราบเอาไปเลี้ยงกับปลาทองเพื่อหวังให้เก็บทำความสะอาดตะไคร่ข้างตู้ โดยหารู้ไม่ว่าปลาทองมีกลิ่นตัวที่เย้ายวนสำหรับซัคเกอร์ แถมยังว่ายน้ำเชื่องช้าตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ย จึงเป็นเหยื่อให้ซัคเกอร์ว่ายมาดูดกินเมือกข้างตัวได้ง่ายแทนที่จะไปกินตะไคร่ซึ่งเทียบกันแล้วคงไม่อร่อยเท่า ปลาที่ถูกระรานก่อกวน พอได้สักระยะหนึ่งมันจะออกอาการย่ำแย่ โรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคจุดขาวจะเข้ามาทักทายก็ในจังหวะนี้นี่เอง
วิธีที่ถูก ก่อนจะเลี้ยงปลาควรหาความรู้สักนิดก่อน ว่าปลาอะไรสามารถเลี้ยงรวมกันได้และปลาอะไรไม่ควร ปลาเสือสุมาตราเหมาะจะเลี้ยงกับปลาที่ว่ายน้ำว่องไวและไม่มีครีบยาว ปลาเทวดาเหมาะจะเลี้ยงกับปลาขนาดเล็ก ๆ โดยเฉพาะปลาในกลุ่มเตตร้าที่ว่ายกันเป็นฝูง ๆ  ปลาทองไม่เหมาะเลี้ยงรวมกับใครเลยนอกจากปลาทองด้วยกัน เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องยากครับ ถามจากร้านขายปลาทั่วไปก็ได้ ดูเอาเจ้าที่มีความรู้หน่อยก็แล้วกัน
คราวหน้ามาว่ากันถึงการรักษาโรคจุดขาวครับ

ปลาที่ป่วยเป็นจุดขาว จะมีจุดขาวเล็กๆกระจายขึ้นตามตัวและครีบ

บทความโดย                         พิชิต          ไทยยืนวงษ์

ไม่มีความคิดเห็น: