Our Fish

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แรม 7 สี...ปลาหมอแคระที่น่ารักน่าเลี้ยง



ปลาหมอสีเป็นชื่อเรียกปลาน้ำจืดในวงศ์ซิคลิเด (Family Cichlidae) ซึ่งมีสมาชิกในวงศ์หลายพันชนิด อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตอบอุ่นและร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกาและบางพื้นที่ของทวีปเอเชีย (เช่นทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและศรีลังกา)

ปลาหมอสีมีความหลากหลายทางด้านขนาดและรูปร่างรูปทรงสีสัน ปลาหมอสีบางชนิดตัวใหญ่เป็นเมตร เช่นปลาหมอไจแอนท์ทังกันยิกา (Boulengerochromis microlepis) ปลาหมอเทมเอนสิส (Cichla temensis) บางชนิดตัวล่ำบึ้กปากกว้างดุร้าย มีขนาดใหญ่เกือบครึ่งเมตร เช่นปลาหมอโดวิอาย (Parachromis dovii) ปลาหมอมานาเกวนเซ่ (Parachromis managuensis) บางชนิดลำตัวแบบบางครีบกางยาวสลวยสง่างาม เช่นปลาเทวดาสายพันธุ์ต่าง ๆ (Pterophyllum spp.) ส่วนชนิดที่เลี้ยงกันแพร่หลายกันทุกวันนี้ที่มีหัวโหนกมีมาร์คกิ้งมีมุกคือปลาหมอลูกผสม (Cross Breeding Cichlid) ที่เกิดจากการนำปลาหมอสีสายพันธุ์แท้มาผสมข้ามพันธุ์กันเพื่อให้ได้ปลาลักษณะแปลกใหม่

ปลาออสก้าร์ก็จัดเป็นปลาหมอสีเช่นกัน เช่นเดียวกับปลาปอมปาดัวร์ ปลานิลและปลาหมอเทศ...

ปลาหมอสีไม่ได้มีเฉพาะปลาใหญ่เท่านั้น ปลาขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกกันว่า “ปลาหมอแคระ” ก็มีอีกไม่น้อย และแรม 7 สีก็คือปลาหมอแคระสายพันธุ์หนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้

แรม 7 สี เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลาหมอสีสายพันธุ์ Microgeophagus ramirezi มันมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับปลาหมอสีชนิดอื่น ๆ ปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 7 ซ.ม. ส่วนตัวเมีย 4-5 ซ.ม. ลักษณะรูปร่างแบนข้าง ลำตัวกว้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัว ครีบหางสั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังเชื่อมยาวต่อกันตั้งสูงชันคล้ายกำแพง ก้านครีบแข็ง 3-4 ก้านแรกของครีบหลังมีสีดำตั้งสูงชันขึ้นมาคล้ายหงอนของนกกระตั้ว ดวงตามีสีแดง มีเส้นดำพาดตาจากบนหัวลงมาเกือบถึงใต้คอ มีจุดดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่บริเวณกลายตัวเห็นเด่นชัด สีสันของปลาชนิดนี้สดสวยเหลือบพรายหลายสีตามชื่อที่ถูกเรียกขานกัน คือมีจุดเขียวอมฟ้าสะท้อนแสงเคลือบบนเกล็ดเต็มลำตัวยกเว้นส่วนท้องที่จะมีสีออกเหลือง ในปลาที่โตขึ้นมาและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ สีที่ท้องจะกลายเป็นสีชมพูและสีแดงโดยเฉพาะในปลาตัวเมีย นอกจากนั้นยังมีสีส้มที่ครีบท้อง ครีบทวาร มีสีน้ำตาลบริเวณส่วนหัว ที่บริเวณโพรงจมูกจนถึงปลายริมฝีปากบนของปลาตัวผู้จะเป็นสีแดงเรื่อ สามารถแยกเพศได้จากตรงนี้นอกเหนือจากความยาวของครีบต่าง ๆ และขนาดลำตัวที่ตัวผู้จะยาวกว่าและใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด
นับไปนับมาไม่ถึง 7 สี แต่ก็เรียกได้ว่าระยิบระยับจับตาไม่ต่างจากอัญมณีมีชีวิตเลยจริง ๆ

ในวงการปลาสวยงามสากล รู้จักปลาหมอแคระชนิดนี้ในนาม Ramirez’s Dwarf Cichlid หรือ Butterfly Dwarf Cichlid ส่วนใหญ่เรียกสั้น ๆ ว่า Ram ซึ่งเป็นชื่อที่ย่อมาจาก Ramirez ซึ่งเป็นชื่อของผู้ค้นพบปลาชนิดนี้นั่นเอง ในเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนมีปลาที่ใช้ชื่อว่า “แรม” หลายชนิด เช่นแรมแดง (Hemichromis bimaculatus) แรมเหลือง (Laetacara curviceps) แรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosa) ปลาหมอแรมตัวจริงของเราก็เลยได้ชื่อว่า “แรม 7 สี” เนื่องจากมันมีสีสันสดสวยและมีหลายสีในตัวเดียวกันนั่นเอง

การเลี้ยง แรม 7 สี ไม่ยุ่งยากอะไร
ในธรรมชาติพวกมันอาศัยในลำธารที่มีพืชน้ำ กิ่งก้านไม้ใหญ่และซากใบไม้ทับถมกันในป่าฝนเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ น้ำนั้นแม้มีสีชาด้วยเกิดจากแทนนินที่ซากต้นไม้ขับออกมา แต่ก็ใสสะอาดมาก มีความกระด้างต่ำและเป็นกรดอ่อน ๆ สภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้พวกมันอยู่กันอย่างสุขสบายด้วยความสมบูรณ์ของอาหารซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ สารพันที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินและที่ลอยมากับกระแสธาร มีปราการหลบซ่อนตัวคือซากต้นไม้ใบไม้และพืชพรรณที่ขึ้นรกครึ้มยามมีปลานักล่าย่างกรายเข้ามา แรมหากินเป็นฝูงกระจัดกระจาย แต่ปลาที่โตขึ้นมาจะเริ่มจับคู่อยู่กันสองตัว ไม่นานจากนั้นก็เริ่มวางไข่ออกลูกหลาน

การเลี้ยงในตู้ ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แต่ต้องมีระบบกรองน้ำที่ดีเพราะแรมค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำ คุณภาพน้ำที่เสื่อมแม้เพียงเล็กน้อยในระดับที่ปลาอื่นอาจยังเฉยอยู่ แต่แรมจะเริ่มออกอาการ เช่นเบื่ออาหาร ซึมหรือลอยหัว หากใช้กรองพื้นฐานเช่นแผ่นกรองใต้กรวดหรือกรองกระป๋องอันเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับปั๊มพ์ลม ก็ควรหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ ในปริมาณน้อย ๆ (ประมาณ 15-20%)

แรมเป็นปลาจับคู่ผัวเดียวเมียเดียว (Monogamous) หากเลี้ยงในตู้เล็กก็ไม่ควรเลี้ยงเกินหนึ่งคู่ มิฉะนั้นปลาจะออกอาการก้าวร้าวใส่คู่อื่น ๆ ในตู้ขนาดปานกลางขึ้นไปสามารถเลี้ยงแรมเป็นฝูง ๆ ได้อย่างสบาย รวมกับปลาชนิดอื่นที่ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เช่นปลาเทวดา ปลาในกลุ่มเตตร้าขนาดไม่เล็กเกินไปนัก

การจัดตู้ ควรเน้นปูพื้นด้วยกรวด (ไม่ควรใช้ทราย) ตกแต่งด้วยขอนไม้และพืชน้ำแบบไม่ให้รกนัก และเว้นพื้นที่ส่วนหน้าของตู้เพื่อให้ปลาได้ออกมาว่ายน้ำเล่น พืชน้ำที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงแรมคือต้นเฟิน เช่นเฟินรากดำ เฟินเขากวาง ต้นอนูเบียส ต้นอเมซอน ต้นคริปโตโครีนชนิดต่าง ๆ ฯลฯ

แรมเป็นปลาแพ้น้ำใหม่ ควรจัดแต่งตู้ให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นก็ทิ้งน้ำไว้โดยเปิดเฉพาะระบบกรองและแสงส่องสว่าง (สำหรับพืชน้ำ) ราวหนึ่งสัปดาห์ค่อยปล่อยปลาลงตู้ ปลาจะอยู่ได้อย่างสบายดีกว่าจัดตู้เสร็จปุ๊บปล่อยปลาลงปั๊บ
อาหารที่เหมาะสม เนื่องจากแรมเป็นปลากินสัตว์ขนาดเล็ก ฉะนั้นควรเลือกอาหารที่เหมาะกับมัน หลีกเลี่ยงอาหารสำหรับปลากินพืช เพราะจำทำให้ปลาเสียสมดุลโภชนาการหากกินต่อเนื่องไปนาน ๆ

ในปัจจุบัน นักเพาะพันธุ์เมืองไทยประสบความสำเร็จกับการพัฒนาสายพันธุ์แรม จนได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาและได้รับความนิยมมาก เช่น แรมทองและแรมบอลลูน แรมบอลลูนเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ๆ โดยการคัดเอาเฉพาะปลาที่มีรูปร่างสั้น (เนื่องจากเกิดความพิการเพราะการผสมพันธุ์เลือดชิด) แต่ได้สัดส่วนและมีสีสันสวยงาม สุขภาพดี มาผสมพันธุ์กันเพื่อให้ลูกออกมาเป็นปลาทรงสั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แรมบอลลูนที่สวยจะมีลำตัวกลมดิก (ยิ่งกว่าปลาหมอนกแก้วเสียอีก) ส่วนครีบกางตั้งชัน ปลายครีบจะยาวสลวยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายเท่าดูละม้ายปลากัดจีนเลยทีเดียว

การเลี้ยงแรมบอลลูนก็เหมือนกับการเลี้ยงแรม 7 สี เพียงแต่ง่ายกว่าเพราะมันมีสรีระที่ไม่เอื้อต่อความก้าวร้าว ทำให้เลี้ยงรวมกับปลาชนิดเดียวกันได้ง่าย ใครที่เคยเลี้ยงแต่ปลาหมอตัวใหญ่ ๆ โหนก ๆ นิสัยดุร้ายราคาแพง ๆ ลองหันมาเลี้ยงปลาหมอแคระนิสัยน่ารักตัวนี้ดูสักครั้ง
อาจจะติดใจก็ได้นะครับ
แรมบอลลูนหรือแรมทรงสั้น


บทความโดย       พิชิต     ไทยยืนวงษ์

ภาพปลา            สายพร   มาพรหม

ไม่มีความคิดเห็น: