Our Fish

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

หยุดซื้อขายปลา ซัคเกอร์กันสักที


พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com
หยุดซื้อขายปลาซัคเกอร์กันเสียที
ใครจะไปคิดล่ะครับ ว่าปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่เลี้ยงไว้สำหรับกินตะไคร่น้ำในตู้ปลาจะกลายมาเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราทุกวันนี้
ปลาตัวที่ว่ามีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “ปลาซัคเกอร์” ชื่อนี้มาจากลักษณะพฤติกรรมการหากินของมันคือใช้ปากที่ธรรมชาติออกแบบมาให้มีรูปคล้ายจานคว่ำดูดกินอาหารซึ่งก็คือตะไคร่น้ำและแทบทุกอย่างที่มันพอจะหาดูดได้ตามพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ท้องน้ำที่เป็นดินโคลน ก้อนหิน โขดหิน ซากต้นไม้ ซากปลาตาย ฯลฯ ปลาซัคเกอร์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแหล่งน้ำของทวีปอเมริกาใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hypostomus plecostomus แต่ทั่วโลกรู้จักมันในชื่อ Suckermouth Catfish จัดอยู่ในกลุ่มปลาไม่มีเกล็ดเช่นเดียวกับปลาดุก ปลาสวาย ปลาแขยง ฯลฯ ลักษณะรูปทรงยาว ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ หางแฉกมีปลายยาวเป็นเส้น ผิวหนังที่ไม่มีเกล็ดพัฒนาขึ้นจนมีความแข็งคล้ายเกราะและมีหนามเล็ก ๆ ป้องกันตัวจากการถูกสัตว์อื่นทำร้าย สีออกเทาดำ มีลายเป็นเส้นและจุดกระจัดกระจาย ที่เด่นชัดมากคือลักษณะของปากที่ออกแบบมาสำหรับดูด ภายในปากมีฟันซี่เล็ก ๆ แหลมคมใช้สำหรับขูดตะไคร่และพื้นผิวต่าง ๆ ปลาซัคเกอร์สามารถโตได้ถึง 50 ซ.ม. ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำมาเลี้ยงในตู้ปลา (ไม่ใช่เพราะใหญ่จนเลี้ยงไม่ได้ แต่เพราะยิ่งโตมันยิ่งดูน่าเกลียดจนหลายคนเรียกมันว่าปลาตุ๊กแก)
เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2520 ได้มีการนำปลาชนิดนี้เข้ามาเลี้ยงเพื่อทำความสะอาดตู้ปลาเนื่องจากในตู้ปลามักมีตะไคร่บ้างหรือเศษอาหารที่เหลือตกค้างบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดีเพราะถูกกับอุปนิสัยของปลาซัคเกอร์ที่เป็นปลาอึดอดทนอยู่ได้ทุกสภาพน้ำและกินทุกอย่างอยู่แล้ว จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากถึงกับตั้งชื่อไทยเสียใหม่ว่า “ปลาเทศบาล” เพราะเก็บกวาดทำความสะอาดได้ดี (ความเข้าใจในคำว่าเทศบาลของคนไทยยุคนั้นคงเป็นอย่างนั้น) ใครที่เลี้ยงปลาเป็นต้องหาซื้อปลาเทศบาลหรือซัคเกอร์มาไว้ใช้งานด้วยทุกคนไป
ซัคเกอร์เป็นปลาเลี้ยงง่ายและเพาะพันธุ์ง่าย สามารถแพร่ขยายสายพันธุ์ได้ในทุกสภาพน้ำแม้กระทั่งในน้ำที่ขาดออกซิเจน เพราะฉะนั้นจากทีแรกที่ราคาค่อนข้างสูงก็กลายมาเป็นปลาราคาถูกมาก ๆ จนเรียกได้ว่าแทบแจก ตามฟาร์มเพาะกันอย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ก็ให้ลูกล้นหลามไม่หยุดหย่อน คนเลี้ยงปลาเห็นซัคเกอร์ตัวเล็ก ๆ ราคาถูก ๆ ก็เหมาซื้อเสียหลายตัว กะให้ช่วยกันทำความสะอาดตู้ชนิดหมดจด ทว่าพอเลี้ยง ๆ ไปมันยิ่งโตใหญ่ขยายร่างจากซัคเกอร์น้อยกลายเป็นอสูรกายขนาดใหญ่ดำทะมึนอยู่ในตู้กระจก เจ้าของตู้เห็นชักไม่เข้าท่าก็หาวิธีกำจัด วิธีที่ดีที่สุดที่พอจะนึกออกคือเอาไปปล่อยแม่น้ำลำคลอง และนี่แหละก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบนิเวศซึ่งขยายผลร้ายแรงมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถ้าคนไทยทุกคนยังไม่ตระหนักถึงภัยของมัน ในอนาคตแหล่งน้ำในธรรมชาติของเราคงเหลือปลาแค่ไม่กี่อย่าง พืชน้ำถูกทำลาย ตลิ่งถูกกัดเซาะ ตะกอนในน้ำเพิ่มมากจนทำลายสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตอีกหลายอย่าง ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำจะกลายเป็นความเสื่อมโทรมอย่างน่าสะพรึงกลัว
บางคนอาจสงสัยว่าถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมในท้องถิ่นธรรมชาติที่เป็นต้นกำเนิดของปลาซัคเกอร์จึงยังคงดำเนินอยู่ได้ แถมระบบนิเวศก็ยังแน่นหนามั่นคงสมบูรณ์เสียด้วย เช่นบริเวณลุ่มน้ำอเมซอน คำตอบคือปลาซัคเกอร์ถูกสร้าง (ค่อย ๆ วิวัฒนาการ) มาเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติบริเวณนั้น ในขณะที่ศักยภาพของการขยายสายพันธุ์และการเอาตัวรอดมีสูง แต่การควบคุมกันเองโดยสัตว์นักล่าอื่น ๆ ก็มีมากไม่แพ้กันจนเรียกได้ว่าเกิดดุลยภาพอย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะที่แหล่งน้ำเมืองไทยไม่เคยมีปลาที่มีศักยภาพในแบบเดียวกับปลาซัคเกอร์มาก่อน ฉะนั้นจึงบอบบางมากเมื่อมีปลาอึดโคตร ตัวใหญ่ ขยายพันธุ์เร็วและกินทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยเฉพาะไข่ปลาที่เกาะติดตามพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ (ธรรมชาติของปลาไทยโดยมากมักวางไข่ติดกับขอนไม้ พื้นดิน) มาร่วมอยู่อาศัยด้วย ตามรายงานพบว่ามันกินไข่ปลาพื้นเมืองจนทำให้หลายสายพันธุ์ลดปริมาณลงอย่างน่าใจหาย และการขุดโพรงถ้ำสำหรับเป็นที่หลบซ่อนของมันก็ทำลายโครงสร้างของผนังตลิ่งจนพังทลาย ปัจจุบันปริมาณปลาซัคเกอร์ในแม่น้ำลำคลองหนาแน่นแทบจะทัดเทียมกับปลานิล (ซึ่งเป็นปลาต่างถิ่นเช่นกัน) ชาวประมงพบเห็นปลาซัคเกอร์จนเบื่อแทบอ้วก เหวี่ยงแหทีติดมาเป็นสิบกิโล นักตกปลาต่างเซ็งกันถ้วนหน้าเวลาตีเบ็ดแล้วติดซัคเกอร์ตัวโตเท่าแขน นั่นเพราะมันเป็นปลารูปร่างน่าเกลียด แถมเนื้อก็ไม่ค่อยอร่อย (ตามที่ได้ยินเขาว่ามา) จะให้ใครเขาก็ไม่เอา จะฆ่าทิ้งก็กลัวบาป สุดท้ายเลยโยนกลับลงคลองตามเดิม กลายไปเป็นปัญหาระบบนิเวศต่อไปอย่างสนุกสนานครื้นเครง
แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะครับ?
ก็อย่างที่จั่วหัวเรื่องไว้ไง เมื่อรู้อยู่แล้วว่าปลาชนิดนี้สร้างผลเสียมากกว่าผลดี (ซึ่งแทบจะไม่มีเอาเสียเลย) ก็ควรเริ่มต้นที่ไม่ซื้อมาเลี้ยง หาปลาไทยบางสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการกินตะไคร่หรือเก็บเศษอาหารปลามาเลี้ยงแทน เช่นปลาน้ำผึ้ง ปลามูด ปลาเล็บมือนาง หรือแม้กระทั่งกุ้งบางชนิดอย่างกุ้งกล้วยหอมก็ใช้งานได้ดีทีเดียว แถมยังราคาถูกมากอีกด้วย เมื่อพร้อมใจกันไม่ซื้อมาเลี้ยง ผู้เพาะพันธุ์ก็คงไม่เพาะต่อให้เมื่อยตุ้ม ต่อจากนั้นก็คงต้องพึ่งทางการอย่างเช่นกรมประมงหรืออะไรก็ได้ที่เข้าถึงกลุ่มเกษตรกร อย่าให้มีการนำปลาที่ขายไม่ได้แล้วไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด หน่วยงานนี้คงต้องไปตระเวนแถวหน้าวัดด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มีการค้าขายรูปแบบใหม่ (หรือเก่าก็ไม่ทราบ) คือตั้งบูธขายปลาสำหรับปล่อยเอาบุญ นอกจากปลาไหล ปลาช่อน ปลาพื้นเมืองตามอย่างที่เคยใช้กัน เดี๋ยวนี้เพิ่มเมนูใหม่คือปลาหมอสี (พวกครอสบรีดหัวโหนก ๆ ) และปลาซัคเกอร์ เข้าไปด้วย โดยเปลี่ยนชื่อให้ดูขลังหน่อยว่าปลาราหู ปล่อยแล้วเคราะห์ร้ายจากราหูก็จะหลุดลอยไป เขาว่างั้น แต่กลายเป็นหลุดไปสิงในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แทนเนี่ยสิ
ร้านขายปลาทั่วไปก็ควรหาความรู้ใส่ตัว ไม่ใช่สักแต่ขายลูกเดียว ผมเคยได้ยินบางร้านบอกกับลูกค้าว่าปลาซัคเกอร์ถ้าเลี้ยงแล้วตัวใหญ่ก็ให้เอาไปปล่อยคลอง (ปลาหมอสีอีกอย่าง) ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ควรขายเลยด้วยซ้ำ หรือว่าถ้ายังมีขายอยู่ก็ควรอธิบายให้ลูกค้าฟังถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ (ถ้ารู้หรือตามข่าวอยู่บ้าง) และบอกกับผู้เลี้ยงว่าอย่าปล่อยแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาดถึงแม้จะใหญ่คับตู้เพียงใดก็ตาม ทางแก้ที่ดีที่สุดคือหาปลาสายพันธุ์อื่นที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงไปเลี้ยง หรือไม่ถ้ามีความจำเป็นไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ก็ควรเอามาให้ร้านหรือทำลายทิ้ง (อย่างหลังนี่สำหรับคนไทยร้อยทั้งร้อยคงทำไม่ลง)
จะว่าไปชาวพื้นเมืองทางอเมริกาใต้เขาก็กินปลาซัคเกอร์นี้เหมือนกันนะครับ ผมเคยอ่านวารสารของกรมประมง ฉบับนั้นก็ว่าด้วยเรื่องผลกระทบทางด้านลบของการที่ปลาซัคเกอร์เข้ามาแพร่พันธุ์อยู่ในแหล่งน้ำเมืองไทย ท่านแนะนำว่าเนื้อปลาซัคเกอร์นี้ถ้าปรุงดี ๆ ก็อร่อย เพราะเนื้อจะออกเหนียวไม่ร่วนเหมือนปลาชนิดอื่น สามารถทำอาหารประเภทลาบ น้ำตก อะไรทำนองนี้ได้สบาย น่าจะมีแข่งขันปรุงอาหารโดยใช้เนื้อปลาซัคเกอร์ว่าแม่ครัวสำนักไหนจะออกแบบเมนูจานเด็ดได้แจ๋วกว่ากัน และจะให้ดีผมว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อปลาตัวนี้เสียหน่อยก็น่าจะเข้าท่า เพราะไม่ว่าจะชื่อซัคเกอร์หรือปลาเทศบาลก็ล้วนฟังดูไม่น่ากิน หรือชื่อไทยที่ตั้งกันอย่างเป็นทางการว่า “ปลากดเกราะ” ก็ฟังไม่เสนาะหู ท่านผู้อ่านลองเอาไปคิดเล่น ๆ เป็นการบ้านไหมครับ ว่าควรจะให้ชื่อไทยกับเจ้าซัคเกอร์นี้ว่าอะไรดีถึงจะฟังดูน่ากิน

ไม่มีความคิดเห็น: