Our Fish

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

มาสังเกตุอาการป่วยของปลากัน


พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com


สังเกตอาการปลาป่วยและสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก

คนเลี้ยงปลาร้อยทั้งร้อยต้องเคยเจอกับอาการป่วยไข้ของปลาที่ตนเลี้ยง โดยเฉพาะมือใหม่ที่เริ่มจากศูนย์คือไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงปลามาก่อนเลย ปลาก็เป็นเช่นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นคือมีเกิดแก่เจ็บตาย แต่ละสายพันธุ์แต่ละชนิดก็จะมีช่วงเวลาดังกล่าวสั้นยาวต่างกันไปตามธรรมชาติกำหนดมา เช่นปลาเล็กก็มักเกิดง่ายตายเร็ว วงจรชีวิตสั้นมาก ในขณะที่ปลาใหญ่นั้นอายุยืนยาวกว่า การเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะทำให้มันมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวใกล้เคียงกับสภาพเป็นจริง
การเลี้ยงปลาที่ดีต้องควบคู่ไปกับการสังเกตสุขภาพปลาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถือได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำทุกวันทีเดียว นักเลี้ยงมือเก๋าบางท่านอาจเถียงว่าเขาไม่เคยต้องมานั่งทำอะไรทำนองนี้ก็เห็นพวกปลาอยู่ได้อย่างสำเริงสำราญ ไม่เห็นมันจะมีปัญหาอะไรสักที ครับ นี่ไม่ใช่เรื่องขี้คุย แต่ต้องขอบอกว่ามันเป็นเรื่องของการกระทำจนเกิดเป็นความเคยชินจนดูเหมือนไม่ได้ทำมากกว่า นักเลี้ยงที่มีประสบการณ์มีสายตาค่อนข้างแหลมคม การมองผ่านตู้ปลาเพียงแวบเดียวก็เพียงพอที่จะตรวจสอบสภาพโดยรวมภายในตู้เลี้ยงได้อย่างชนิดที่นักเลี้ยงมือใหม่ต้องเพ่งกันเป็นวัน ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะสิบเท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เซียนบางคนก็อาจต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าด้วยว่าปลาสุดที่รักต้องมาตายจากไปเพราะความประมาทของตัวเองก็ออกบ่อย
ฉบับนี้เรามารู้จักวิธีสังเกตอาการปลาป่วยและวิธีปฐมพยาบาลกันสักหน่อยกันดีกว่า เพราะถึงยังไงต้องได้ใช้แน่นอนสำหรับทุก ๆ ท่านที่มีใจรักทางการเลี้ยงปลาสวยงาม ก่อนอื่นผมขอแยกลักษณะปลาแข็งแรงกับปลาที่ดูเหมือนจะมีอาการป่วยให้ท่านเห็นชัด ๆ กันเสียก่อน ดังนี้ครับ
ลักษณะของปลาแข็งแรง
1 ลักษณะลำตัวแข็งแรง มีกล้ามเนื้อขึ้นเต็ม ท้องไม่แฟบบาง ครีบทุกครีบกางตั้ง ใบครีบใสไม่ขุ่นหรือฉีกแหว่ง ขาด ลุ่ย
2 ตาใส กลม ไม่ขุ่น กระจกตาไม่โปนออกนอกเบ้า
3 หากเป็นปลามีเกล็ด เกล็ดต้องมีความเงางาม ซ้อนกันเรียบสนิทเรียงกันเป็นแถวสวยงาม หากเป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง ผิวหนังต้องแน่น เรียบตึง
4 สีสันลวดลายขึ้นสวยงามตามสมควร ไม่จำเป็นต้องสดเข้ม แต่ต้องไม่ซีดจางหรือเลอะเลือน
5 การว่ายน้ำต้องมีทิศทาง มีความกระตือรือร้น มีประสาทสัมผัสว่องไว
6 การหายใจต้องไม่หอบถี่จนเกินไป สังเกตจากอาการเปิดปิดของฝาปิดเหงือกข้างแก้ม แผ่นเนื้อเยื่ออ่อน ๆ จะกระพือเปิดปิดอย่างเป็นจังหวะจะโคน

ส่วนลักษณะของปลาที่เริ่มมีอาการไม่ปรกติ มักมีดังนี้
1 หากเป็นทางด้านกายภาพอาจมีอาการผ่ายผอม ท้องยุบสันหลังแฟบแบน ครีบลู่หรือกางสลับลู่ อาจฉีกแหว่งหรือกร่อน หรือมีลักษณะของการตกเลือด ท้องบวมโตบริเวณที่เป็นกระเพาะอาหารหรือถุงลม
2 ตาขุ่น กระจกตาโปน เลนส์ตาที่ควรจะดำมันกลับกลายเป็นฝ้า
3 เกล็ดขาดความเงางาม ด้าน มีจุดกระสีดำขึ้นกระจาย มีจุดขาวขึ้นกระจาย ผิวหนังถูกปกคลุมด้วยเมือกขาวขุ่นดูคล้าย ๆ ปลาส้มที่ใช้ทำอาหาร มีจุดหรือจ้ำสีแดงอันเกิดจากพยาธิภายนอก
4 สีสันลวดลายซีดหายเลอะเลือน จากแต่เดิมที่เคยขึ้นชัดสดคม
5 การว่ายน้ำเป็นไปในแบบไร้ทิศทาง หรือพยายามว่ายไปหลบซุกตามมุมตู้หรือนอนนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ประสาทสัมผัสขาดความว่องไว หรือเกิดอาการตื่นตัวรุนแรงผิดปรกติ ปลาที่มีพยาธิภายนอกจะว่ายกระสับกระส่ายคอยเอาตัวไถลตามพื้นตู้หรือสันก้อนหินขอนไม้อยู่ถี่ ๆ เพื่อกำจัดพยาธิออกจากผิวหนัง ปลาที่มีปัญญาการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารจะว่ายหัวทิ่มหรือหงายท้อง
6 การหายใจผิดปรกติ ฝาปิดเหงือกทำงานหนัก กระพือเร็ว บางทีจะมีการหยุดชะงักเป็นพัก ๆ เหมือนเกิดอาการช็อค







อาการผิดปรกติดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นฟันธงได้เลยว่าปลาเป็นโรคแน่ เพียงแต่จะเป็นโรคอะไรอย่างไรก็คงต้องว่ากันต่อไปในภายหลัง ก่อนอื่นสิ่งที่ท่านต้องทำคือนำปลาป่วยออกมาทำการปฐมพยาบาลเสียก่อน จะต้องยึดหลักว่ายิ่งรู้เร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว ปลาก็จะมีเปอร์เซ็นต์การรอดสูง หากชะล่าใจปล่อยเวลาให้เนิ่นไปอีกบางทีแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงปลาก็อยู่รอให้เรารักษาไม่ไหวเสียแล้วครับ
ขั้นแรกสุดเลยคือเราต้องมีสถานที่ นั่นก็คือภาชนะสำหรับแยกปลาป่วยมารักษาโดยเฉพาะ ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กถึงขนาดกลางก็นิยมใช้ตู้กระจกที่มีความจุน้ำอย่างต่ำสักห้าสิบลิตร ถ้าเป็นปลาใหญ่ ๆ ก็อาจใช้ตู้ขนาดร้อยห้าสิบลิตรขึ้นไปหรือไม่ก็บ่อปลา อาจเป็นบ่อพลาสติกหรือบ่อปูนก็ตามแต่สะดวก
การวางตู้หรือบ่อพยาบาลควรวางในบริเวณที่มีแสงส่องสว่างเพียงพอ เพราะเราต้องคอยสังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิดด้วย ที่สำคัญบริเวณนั้นต้องไม่อยู่ในจุดที่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากนัก จะให้ดีก็หาฮีทเตอร์มาใช้ควบคุมอุณหภูมิอีกสักตัวก็ไม่เลว
ทำความสะอาดภาชนะก่อนเสียหนึ่งรอบด้วยน้ำเกลือเข้มข้น หรือหากใช้ด่างทับทิมก็ใช้เพียงเจือจางและล้างออกหลาย ๆ ครั้ง
เตรียมน้ำใส่ภาชนะ ต้องเป็นน้ำปราศจากคลอรีน มีอุณหภูมิเท่ากันกับตู้เลี้ยงที่กำลังจะแยกปลาป่วยออกมา
จัดหาวัสดุหลบซ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเกิดอาการเครียด เช่นขอนไม้ ต้นไม้หรือก้อนหิน แต่อย่าวางให้รกจนเกิดไปนัก การจัดวางควรจัดบริเวณกลางไปจนถึงหลังตู้ ไม่ควรปูกรวดหรือทรายที่พื้นตู้ เพราะจะเป็นที่สะสมฟักตัวของเชื้อโรคและพยาธิหลายชนิด
ติดตั้งกรองขนาดเล็กเพื่อช่วยให้น้ำสะอาด ไหลเวียนดีและมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอ
ขั้นต่อไปก็ค่อย ๆ จับปลาป่วยออกมาจากตู้ การจับต้องไม่ใช้กระชอนไล่ควานอย่างบ้าคลั่งเพราะจะทำให้ปลาช็อคตายเสียก่อน ควรค่อย ๆ ทำอย่างละมุนละม่อม โดยใช้กระชอนสองอันที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาหลาย ๆ เท่า ค่อย ๆ ไล่ต้อนจนเข้ามุมแล้วจึงช้อนออกมาใส่ถุงพลาสติกหรือกาละมัง
นำถุงพลาสติกหรือกาละมังไปลอยไว้ในน้ำของตู้พยาบาลเพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่ากันดีเสียก่อน ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที จากนั้นค่อยเอากระชอนช้อนเฉพาะตัวปลาลงตู้พยาบาลอีกที อย่าเทน้ำที่ได้จากตู้เดิมลงไปด้วย
ถึงตอนนี้ปลาก็พร้อมสำหรับการวินิจฉัยและรักษาให้หายขาดต่อไปแล้วละครับ
อ้อ แล้วควรจะทำอย่างไรกับตู้เลี้ยงเดิมที่ยังมีปลาที่ไม่ป่วยอยู่?
ง่ายที่สุดก็เปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-25% และสังเกตอาการของปลาต่อไปอีกสักระยะเพื่อหาดูว่าใครมีอาการผิดปรกติเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากมีก็จะได้เอามารักษาได้ทันท่วงทีครับ จำไว้ว่าเมื่อปลาป่วย อย่าเพิ่งใส่ยาจนกว่าจะวินิจฉัยอาการของโรคและเตรียมภาชนะสำหรับรักษาให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน

1 ความคิดเห็น:

เบ็นโตะ กล่าวว่า...

พึ่งรู้ว่าปลาก็เครียดได้เหมือนคนนะครับ
และพึ่งรู้ว่าต้องเปลี่ยนน้ำนิดเดียว ที่ผ่านๆมาเปลี่ยนหมดตู้
มิน่า ตายเรื่อยเลย เอาล่ะได้ความรู้แล้วจะลองดูอีกครั้งครับ