Our Fish

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

มือใหม่หัดเลี้ยงปลา ตอน 2


พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com

ตอนที่แล้วเล่าถึงสาเหตุหลัก ๆ ที่มักทำให้ปลาตาย ซึ่งก็ได้แก่ 1. ใช้น้ำประปาโดยไม่ผ่านการพักหรือเครื่องกรองคลอรีน
2. เปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ชนิดหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมากเกินไป 3. ไม่ตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำใหม่ว่าแตกต่างจากน้ำในตู้เลี้ยงเดิมหรือไม่ 4. การใช้ยาโดยขาดความเข้าใจ
ยังมีอีกประการหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ว่ามันสามารถสร้างปัญหาให้กับปลาได้มากมายมหาศาลเช่นกัน นั่นก็คือ “ความเครียด”
ความเครียดไม่ได้มีเฉพาะกับคน แต่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ กระทั่งแมลงตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถเกิดความเครียดได้โดยไม่ต้องอ่านข่าวการเมืองหรือเศรษฐกิจแต่ประการใด หลายคนพอได้ยินว่าปลาเครียดได้ก็หัวเราะ คิดว่าคนพูดเสียสติไปแล้ว ทว่าความจริงปลาเครียดได้ไม่แพ้คน แถมยังอาจมากกว่าด้วยซ้ำในกรณีปลาสวยงามที่ถูกเลี้ยงโดยคนไม่มีความรู้พื้นฐานเอาเลย
ความเครียดจะส่งผลกับปลาโดยตรงเช่น ไม่กินอาหาร หลบซ่อนอยู่ตลอดเวลา สีซีดจางหรือบางตัวก็ดำคล้ำ หุบครีบหรือครีบลู่ไม่กางโบกไปมาเหมือนยามปรกติ หายใจหอบ เหงือกทำงานหนัก บางชนิดแสดงออกถึงความก้าวร้าวดุร้ายผิดปรกติ ปลาที่เครียดมาก ๆ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยถอยลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่าง ๆ หรือเป็นโรคได้ง่าย เช่นโรคจุดขาว โรคตกเลือด โรคผิวหนังเปื่อย เป็นต้น
ปลาเกิดความเครียดได้อย่างไร
สาเหตุมีมากมายครับ แต่สรุปได้คำเดียวสั้น ๆ ว่าเกิดจาก “การเลี้ยงที่ผิดวิธี” ถึงจะใช้น้ำสะอาดปราศจากคลอรีน ถึงจะเทียบอุณหภูมิของน้ำใหม่ให้เท่าน้ำเก่าก่อนทำการเปลี่ยนถ่าย ถึงจะเรียนรูถึงวิธีการรักษาโรคปลาแต่ละชนิดจนจำได้ขึ้นสมอง แต่ปลาก็ยังเครียดจนถึงตายได้อยู่ดี นั่นเพราะไม่พยายามเข้าใจถึงธรรมชาติของปลาที่เราเลี้ยงให้มากเพียงพอ
ธรรมชาติของปลาแต่ละชนิดแตกต่างกัน ปลาเล็กจิ๋วอย่างปลานีออน ปลาคาร์ดินัล จะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ บริเวณที่มันอยู่จะอุดมด้วยพืชน้ำ ซากไม้ที่มีกิ่งก้านเพื่อใช้เป็นที่กำบังปกป้องอันตรายจากสัตว์ผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่กว่า หากเลี้ยงปลากลุ่มนี้ในตู้โล่ง ไม่พยายามประดับตกแต่งอะไรที่เลียนแบบธรรมชาติของมันแถมยังเลี้ยงแค่ไม่กี่ตัวรวมกับปลาสายพันธุ์อื่น อย่างนี้ปลามักอยู่ไม่ทนเพราะเกิดความเครียด เมื่อเครียดแล้วจะส่งผลร้ายต่อสภาพร่างกายอย่างรวดเร็วถึงขั้นตายได้ในไม่กี่ชั่วโมงทีเดียว
หรือปลาที่เลี้ยงง่ายแสนง่ายอย่างปลาทอง ธรรมชาติของปลาทองเป็นปลาอุ้ยอ้ายว่ายน้ำช้าและซุ่มซ่ามเป็นที่สุดเนื่องจากถูกบรีดมาให้อ้วนปุ๊กลุก ปลาทองบางสายพันธุ์ยังมีวุ้นขึ้นปิดหน้าปิดตามองอะไรไม่เห็น ใช้ได้แต่เส้นประสาทสัมผัสข้างลำตัวและจมูกดมกลิ่นหาอาหารเท่านั้น ฉะนั้นการเลี้ยงปลาทองจึงต้องเลี้ยงในภาชนะกว้างโล่ง ไม่พยายามยัดเยียดของตกแต่งประดับประดาเข้าไปให้เกะกะขวางทางจราจร โดยเฉพาะวัสดุประเภทขอนไม้ที่มีกิ่งก้านหรือก้อนหินที่มีความแหลมคม ตู้ปลาที่มีของเหล่านี้จะทำให้ปลาทองเกิดความเครียดเพราะว่ายไปก็ชนไป ชนแรงเข้าหน่อยก็เกิดบาดแผล ความเครียดลดระบบอิมมูนหรือภูมิคุ้นกัน เชื้อโรคจึงจู่โจมได้ง่าย การเลี้ยงปลาอื่นร่วมกับปลาทองก็เช่นกัน หากขาดความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาก็จะส่งผลร้ายได้อย่างมากทีเดียวเช่นการใส่ปลาดูดตะไคร่ลงไปอยู่ในตู้เดียวกัน แทนที่ปลาดูดตะไคร่จะไปทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากเราคือกำจัดตะไคร่ตามกระจก พวกก็ดันผ่าไปโจมตีปลาทอง เนื่องจากปลาทองเป็นปลาเมือกเยอะ เรียกว่ากลิ่นตัวแรงหอมยั่วใจ ปลานักดูดทั้งหลายเห็นว่าน่าจะเอร็ดอร่อยกว่าตะไคร่ก็จะไล่ดูดปลาทองของเราอย่างไม่ลดละ ส่งผลให้ปลาทองเครียดจัดร่างกายอ่อนแอ ผิวถลอกปอกเปิดติดเชื้อแบคทีเรียวุ่นวาย นักเลี้ยงมือใหม่บางคนวิ่งไปถามร้านขายปลา (ซึ่งอาจมือใหม่ด้วยเช่นกัน) ร้านขายปลาแทนที่จะถามไถ่ข้อมูลพื้นฐานเช่นว่าเลี้ยงอย่างไร เลี้ยงร่วมกับปลาอะไร ก็ไม่ถาม กลับเสนอยาทันที (เพราะได้สตางค์) นักเลี้ยงมือใหม่ได้ยามาก็อ่านฉลาก เห็นว่าตรงกับอาการของปลาก็ประเคนใส่เข้าไปละลายน้ำ ทว่าเวลาผ่านไป ๆ อาการปลาก็ไม่เห็นจะดีขึ้น ซ้ำยิ่งทรุดหนักกว่าเดิมเสียอีก นั่นก็เพราะมองไม่เห็นต้นเหตุของปัญหา คือการเลี้ยงตัวป่วนปลานักดูดร่วมกับปลาทองนั่นเอง
ความเครียดของปลายังเกิดได้จากกรณีอื่นอีกครับ
เช่นการเปิดปิดไฟในตู้แบบตามใจฉัน การย้ายปลาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยไม่ปรับอุณหภูมิ การตั้งตู้ปลาไว้ในสถานที่พลุกพล่านหรือหันเข้าหาแสงสว่างมากเกินไป การเล่นกับปลาแบบคิดไปเองว่าปลาต้องชอบแน่เช่นเอามือไปจับต้องตัวมัน ฯลฯ
ต้องคิดเสียก่อนนะครับ ว่าปลาไม่ได้เป็นเหมือนคน การเปิดปิดไฟสำหรับปลาควรกำหนดเวลาให้แน่นอนในแต่ละวัน เช่นเปิดไฟตอนห้าโมงเย็นและปิดตอนสี่ทุ่ม ก็ควรให้ได้เวลานี้ตลอด อย่าเปิด ๆ ปิด ๆ เพราะปลาจะเกิดความสับสนและเครียด เพราะปลาโดยส่วนใหญ่หากินเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พอตกมืดก็พากันพักผ่อน และปลาบางส่วนอาจหาที่ซุกซ่อนในเวลากลางวัน พอกลางคืนค่อยโผล่ออกมาหากิน นักเลี้ยงมือใหม่บางคนหวังดีจัด เปิดไฟในตู้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเพราะคิดว่าปลาน่าจะชอบ ทว่าผลกลับตรงกันข้ามครับ นอกจากไม่ชอบแล้วยังทำให้ร่างกายของมันค่อย ๆ อ่อนแอลงไปจนป่วยไข้ตายในที่สุดเพราะไม่มีช่วงเวลาพักผ่อนเป็นเรื่องเป็นราวนั่นเอง
การย้ายปลาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งก็จำเป็นต้องเช็คอุณหภูมิเสียก่อน เพราะแม้ว่าอยู่ภายในบ้านเดียวกันแต่ปริมาณการรับความร้อนหรือการถ่ายเทความร้อนย่อมแตกต่างกันแน่นอน เช่นตู้ปลาในบ้านย่อมมีอุณหภูมิต่ำกว่าตู้ที่ตั้งอยู่บริเวณระเบียงที่พื้นหรือผนังคอยคายความร้อนของไอแดดออกมา หรือบ่อปลาที่ตั้งในร่มย่อมมีอุณหภูมิต่ำกว่าบ่อปลาที่ตั้งกลางแจ้ง เป็นต้น การปรับอุณหภูมิก็ทำไม่ยาก แค่เอาถุงที่บรรจุปลาจากที่หนึ่งมาแช่ลอยน้ำไว้ก่อนสัก 20 นาที จากนั้นค่อยเปิดปากถุง กดปากถุงลงน้ำ แล้วปล่อยให้ปลาว่ายออกมาเอง
สถานที่วางตู้ปลาก็เป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม ปลาจะเครียดจัดถ้ามีแสงสว่างสาดเข้ามาหามันตลอดเวลาเช่นตั้งตู้หันหน้าออกหน้าต่างที่แสงแดดส่องถึง แทนที่ปลาจะว่ายไปมาตามอย่างที่ควรก็กลับหาที่ซุกหรือเกิดอาการตื่นกลัวอยู่ตลอด จุดวางตู้ที่ดีควรอยู่ในตำแหน่งอากาศถ่ายเทแต่ไม่โดนแสงแดดหรือแสงไฟอื่นสาดส่อง ยกเว้นแสงจากฝาตู้ซึ่งมาจากด้านบน เรื่องของความอึกทึกครึกโครมก็เช่นกัน บางบ้านพื้นเป็นไม้ เวลาเดินผ่านตู้ปลาเกิดการสะเทือนรุนแรงปลาก็จะเครียดและตื่นกลัวง่าย ควรเปลี่ยนไปตั้งวางบริเวณที่สงบกว่า
การเล่นกับปลาโดยเอามือไปไล่จับมันก็เป็นการกลั่นแกล้งปลาโดยที่เราเองไม่ได้ตั้งใจ จริงอยู่ว่าปลาบางชนิดสามารถเล่นได้เพราะเชื่องคนง่าย แต่โดยส่วนใหญ่ปลาไม่ได้ชอบแบบนั้นเลย ปลามีโลกส่วนตัว มีวิถีปฏิบัติในแบบของมันที่ไม่ได้ต้องการให้เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวยกเว้นการให้อาหาร ปลาที่เลี้ยงจนเชื่องจะว่ายเข้ามาหาคนก็เพราะต้องการอาหาร ไม่ใช่เพราะดีใจที่ได้เจอหน้ากันอย่างที่หลายคนเข้าใจ ปลาบางชนิดถึงแม้เจ้าของสามารถจะลูบตัวมันเล่นได้อย่างเช่นอะโรวาน่า แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังขี้ระแวง และอาจเกิดการผิดพลาดขึ้นได้จากความตกใจโดยพุ่งตัวรุนแรงกระแทกตู้ ซึ่งอันตรายมาก ทางที่ดีไม่ควรสร้างปฏิสัมพันธ์กับปลาที่เลี้ยงมากเกินไปกว่าจ้องมองจากภายนอก และให้อาหารตามความเหมาะสมครับ

ไม่มีความคิดเห็น: