Our Fish

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

มือใหม่หัดเลี้ยงปลา ตอนที่1










พิชิต ไทยยืนวงษ์
cichlidbox@hotmail.com
ปัญหาที่นักเลี้ยงปลามือใหม่เจอกันประจำคือปลาตายโดยไม่รู้สาเหตุ หลายคนยืนยันว่าปลาที่ซื้อจากร้านทีแรกก็สุขภาพดี ว่ายน้ำคล่องแคล่วสีสันก็โอเค แต่พอเอากลับไปเลี้ยงได้แค่วันสองวันก็พากันทยอยตาย ตื่นเช้ามามีอันต้องเก็บศพในตู้ก่อนเป็นอันดับแรก พอตายก็ต้องถ่ายน้ำล้างตู้ เสร็จสรรพได้อีกวันพวกก็ตายอีก แถมน้ำก็ไม่เห็นใสเหมือนที่ร้าน มันยังไงของมันก็ไม่รู้
สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้ปลาตาย นับ ๆ ดูแล้วมีไม่กี่อย่าง ดังนี้ครับ

1 ใช้น้ำประปา
น้ำประปาเป็นน้ำสะอาด สำหรับคนยังสามารถดื่มได้ด้วยซ้ำถ้าไม่กลัวสนิมที่ค้างในท่อ แต่ต้องไม่ลืมว่ามันถูกฆ่าเชื้อโรคมาด้วยสารคลอรีน ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาสวยงามอย่างยิ่ง นักเลี้ยงปลามือใหม่มักไม่ทราบเรื่องนี้ (หรือทราบแต่ไม่สนก็ไม่รู้แฮะ) จัดตู้เสร็จสรรพเรียบร้อยก็ต่อสายยางจากก๊อก เปิดน้ำประปาสด ๆ เติมลงตู้ไม่รอช้า พอน้ำเต็มก็แกะถุงปล่อยปลา ปลาบางชนิดโดยเฉพาะบรรดาปลาเล็ก ๆ อย่างปลานีออน ปลาคาร์ดินัลเตตร้า โดนน้ำที่มีคลอรีนเจือจางแม้แต่นิดเดียวก็ลาโลกได้ฉับพลันทันที แต่ปลาใหญ่อย่างปลาทอง ปลาคาร์พ อาจใช้เวลานานกว่านั้น ขั้นแรกมันอาจหายใจหอบ ว่ายทุรนทุราย คนเลี้ยงก็เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของปลาที่เพิ่งลงตู้ใหม่ ๆ ผ่านไปสักวันเดียวก็ออกอาการตรีทูต ตัวเปื่อยครีบลู่ตาเป็นฝ้า ขึ้นมาลอยหัวหายใจผิวน้ำและเริ่มทยอยตาย ปลาบางชนิดอึดตึกนรกเช่นปลาหมอสี ปลาซัคเกอร์ มันออกอาการแย่เช่นกันเมื่อโดนคลอรีน แต่สามารถทนจนกระทั่งคลอรีนระเหยหมดไปก็ค่อย ๆ กลับมาฟื้นสภาพตัวเองจนเป็นปรกติได้ แต่รับรองว่ามันไม่ทนได้ตลอดรอดฝั่งหรอกครับ ปริมาณคลอรีนที่ทางการประปาเขาประเคนใส่มาบางครั้งก็มากบางครั้งก็น้อย ขึ้นอยู่กับสภาพของน้ำที่นำมาเก็บ วันใดที่ปริมาณคลอรีนมากเกินปลารับไหวเมื่อนั้นมันก็ม่องเท่งได้เช่นเดียวกัน
น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาไม่ควรเป็นน้ำประปาสดจากก๊อก ควรมีภาชนะเก็บพักน้ำไว้ก่อนสักสองสามวัน หรืออย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อให้คลอรีนระเหยออกหมดจึงค่อยนำมาใช้ หรืออีกวิธีหนึ่งที่นิยมแพร่หลายในวงการการเลี้ยงปลาสวยงาม คือการใช้เครื่องกรองที่มีบรรจุแอ็คติเวตเต็ดคาร์บอน (Activated Carbon) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะคลอรีนได้ดี เครื่องกรองแบบนี้มีขายตามร้านขายปลาทั่วไป วิธีการใช้ก็แค่ต่อเข้ากับก๊อกน้ำประปาธรรมดา ๆ นี่แหละ ปล่อยให้น้ำไหลผ่านไส้กรองแบบไม่แรงนักแล้วไหลลงตู้ได้เลย น้ำที่ได้จะเหลือปริมาณคลอรีนน้อยมาก อยู่ในระดับที่สามารถเลี้ยงปลาได้ แต่ก็ยังไม่เหมาะสำหรับปลาเล็ก ๆ อยู่ดี
ดังนั้นการพักน้ำไว้ก่อนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

2 เปลี่ยนถ่ายน้ำหมดตู้หรือมากเกินไป
การเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลาควรทำเป็นประจำ อย่าทิ้งไว้จนสภาพน้ำแย่แล้วค่อยเปลี่ยนทีละมาก ๆ หลายคนชอบเปลี่ยนน้ำแบบทีเดียวหมดตู้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดครับ ปลาส่วนหนึ่งอาจทนได้บ้างถ้าสภาพร่างกายแข็งแรงเพียงพอ แต่บางส่วนอาจเกิดอาการที่เรียกว่า “ช็อคน้ำใหม่” ซึ่งมักเกิดเป็นประจำหากเปลี่ยนถ่ายน้ำวิธีนี้ ปลาที่ช็อคน้ำใหม่จะมีอาการคล้ายปลาที่โดนคลอรีน คือทุรนทุราย หายใจหอบ พยายามกระโดดให้พ้นจากตู้ เมื่อร่างกายอ่อนแอเชื้อโรคต่าง ๆ ก็สามารถเข้าจู่โจมได้ง่ายมาก ดังนั้นจึงอาจเห็นปลาที่เกิดอาการตกเลือด ครีบเปื่อยตัวเปื่อยหรือเป็นจุดขาวได้บ่อยครั้ง สำหรับคนเลี้ยงที่นิยมเปลี่ยนถ่ายน้ำหมดตู้หรือมากเกินไป
การเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ถูกวิธีไม่ควรเกิน 20-25 เปอร์เซ็นต์ และทำเป็นประจำไม่ทิ้งให้สภาพน้ำแย่ วิธีการก่อนเปลี่ยนน้ำคือควรเช็ดกระจกเสียก่อนด้วยฟองน้ำ จากนั้นก็ปล่อยให้ตกตะกอนสัก 10 นาที จากนั้นก็ใช้ไซฟอน (สายยางดูดน้ำที่มีปลายข้างหนึ่งเป็นทรงกระบอกยาวสักห้าหกนิ้ว) ดูดเอาฝุ่นตะกอนเศษอาหารที่ฝังตัวใต้กรวดออกมา พอหมดน้ำไปเศษหนึ่งส่วนสี่หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมดก็หยุด เติมน้ำใหม่ แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องย้ายปลาเข้า ๆ ออก ๆ ซึ่งมีผลทำให้ปลาเครียดและเกิดการติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน



3 ไม่ตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำใหม่
แม้จะเปลี่ยนถ่ายน้ำแค่ 25% ด้วยน้ำที่พักไว้แล้วก็ตาม แต่หากไม่ตรวจสอบความต่างของอุณหภูมิก็อาจเกิดผลเสียได้ไม่ต่างกับสองข้อแรก ต้องไม่ลืมว่าปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น การเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลันส่งผลให้ปลาป่วยได้ง่ายมาก ตามบ้านทั่วไปที่มีแท็งค์พักน้ำ ตัวแท็งค์มักอยู่นอกบ้าน บางทีก็โดดแดดจนน้ำร้อนจี๋ แต่ถึงแม้ไม่โดนแดด แต่แค่ไอแดดหรือปูนซีเมนต์ที่คายความร้อนก็ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงกว่าน้ำในตู้ปลาหลายองศา ควรทดสอบอุณหภูมิเสียก่อน วิธีง่ายที่สุดคือใช้มือนี่แหละ จุ่มน้ำในตู้ค้างไว้สักพัก จากนั้นก็รีบย้ายมาจุ่มในน้ำที่กำลังจะเติม ถ้าใกล้เคียงกันก็โอเค แต่ถ้าต่างกันแบบรู้ชัดก็ต้องแก้ไขเสียก่อน โดยอาจเปิดน้ำใหม่ใส่ภาชนะที่วางไว้บริเวณเดียวกับตู้ปลาหรือใกล้เคียง ปล่อยทิ้งไว้จนอุณหภูมิเท่ากัน ค่อยๆเติมลงตู้ปลา หรืออีกวิธีหนึ่งสำหรับคนใจร้อนคือเติมน้ำแข็งลงไปในภาชนะพักน้ำ (ไม่ใช่เติมในตู้ปลาโดยตรงนะครับ) ค่อย ๆ ใส่ทีละก้อนแล้วเทียบอุณหภูมิ ซื้อเทอร์โมมิเตอร์มาสักตัวหนึ่งก็จะช่วยได้มากทีเดียว

4 ใส่ยาสารพัด
นักเลี้ยงปลามือใหม่มักซื้อยาอะไรก็ไม่รู้ติดมาด้วยเสมอ โดยเชื่อว่าการใส่ยาต่าง ๆ ลงไปจะทำให้น้ำสะอาดปราศจากเชื้อโรค ปลาก็จะได้ไม่ป่วยไข้ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งใส่ปลาก็ยิ่งตาย พอไปถามร้านขายปลาที่ขาดประสบการณ์ก็อาจได้ยาชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก แก้ปัญหาไม่ตรงจุดตามเคย
เคมีภัณฑ์สำหรับปลามีมากมายเหลือคณนานับ แต่บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็น เป็นของที่เอาไว้สร้างกำลังใจเท่านั้นเอง และที่สำคัญบางทีมันกลับส่งผลเสียให้ทั้งตัวปลาและคนเลี้ยง หากไม่รู้วิธีการใช้งานมันอย่างถูกต้องถ่องแท้ อย่างเช่นมาลาไคท์กรีนที่เป็นน้ำยาสีเขียว ๆ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารก่อมะเร็ง ห้ามสัมผัสผิวหนังเด็ดขาด
การเลี้ยงปลาที่ถูกต้องต้องเน้นที่ระบบ โดยเฉพาะระบบกรองน้ำ พยายามหลีกเลี่ยงบรรดาน้ำยาทั้งหลายทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นน้ำยาทำน้ำใส น้ำยาฆ่าเชื้อโรค น้ำยาฆ่าเห็บหนอนสมอ น้ำยาฆ่าคลอรีน ฯลฯ ของพวกนี้เราจะใช้ก็ต่อเมื่อมันถึงคราวจริง ๆ เช่นเมื่อปลามีหนอนสมอเกาะตามตัวก็ค่อยแช่ด้วยน้ำผสมน้ำยาฆ่าหนอนสมอ เมื่อปลาเป็นโรคจุดขาวก็ค่อยใช้ยาสำหรับกำจัดจุดขาว ซึ่งก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ที่ถูกวิธีด้วยจึงจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนน้ำยาน้ำใส น้ำยาฆ่าเชื้อโรค พวกนี้เลิกใช้ได้เลย เพราะไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเสริมสร้างรายได้ให้ผู้ผลิต
ตู้ปลาที่มีน้ำใสแจ๋วเหมือนกระจกไม่ได้เกิดจากการใช้น้ำยา แต่เป็นผลจากการใช้ระบบกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งร้อยทั้งร้อยคือการกรองด้วยระบบชีวภาพ คือใช้แบคทีเรียมาช่วยในการย่อยสลายของเสีย เมื่อระบบกรองน้ำดี น้ำในตู้ก็ใสสะอาด ปลาก็มีสุขภาพแข็งแรงไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย ส่วนตู้ที่ไม่มีระบบกรองน้ำดีพอ ต่อให้ใส่น้ำยาทำน้ำใสเท่าไหร่มันก็ไม่ช่วยได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น: