Our Fish

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำในตู้ปลาใสได้อย่างไร ตอนจบ




 องค์ประกอบที่ทำให้น้ำในตู้ปลาใส

1 ระบบกรองดี

2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

3 ให้อาหารพอสมควร

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ



ว่ากันไป 2 หัวข้อแล้ว ฉบับนี้มาต่อกันให้จบเลยดีกว่านะครับ

3 ให้อาหารพอสมควร

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคนเรานั้นกินข้าว 3 มื้อ คือเช้า กลางวันและเย็น แต่สัตว์ต่าง ๆ รวมไปถึงปลาไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปลาที่ว่ายอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมื้ออาหารไม่แน่นอน ปลาบางชนิดอาจต้องกินเกือบตลอดเวลา เช่นพวกปลากินพืชประเภทตะไคร่น้ำหรือปลาที่กินแพลงค์ตอน ปลาบางชนิดที่เป็นนักล่าก็จะล่าเฉพาะเวลาหิว หากได้กินจนท้องตุงก็จะหยุดล่าไปเป็นพักใหญ่ ปลาที่อาศัยในน้ำเชี่ยวกรากต้องใช้พลังงานสูงในการดำรงชีวิต พวกมันจึงต้องการอาหารในปริมาณที่มากและบ่อย และปลาที่อยู่ในช่วงจำศีลของฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอาจไม่ต้องการอาหารใด ๆ เลยเป็นเวลานานหลายเดือน

ปลาที่เรานำมาเลี้ยงดูเล่นสวยงาม โดยส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยงง่าย กินง่าย เช่นปลาทอง ปลาคาร์พ ปลาหางนกยูง ปลาหมอสี ฯลฯ เมื่อเห็นคนเลี้ยงก็จะว่ายกรูกันมาขออาหารอย่างแสนรู้ หลายคนชอบใจให้อาหารวันละหลาย ๆ มื้อเพราะเห็นมันทำท่าหิวโหยอ้าปากรอ ครั้นจะทำนิ่งเฉยก็สงสาร ให้ไปให้มาไม่กี่วันปลาเริ่มออกอาการป่วย สภาพน้ำแย่ส่งกลิ่นคาว ปลาบางตัวตกเลือด เมือกห่อทั้งตัวจนตาขาวขุ่น ลอยคอทำปากพะงาบ อันเป็นอาการของโรคร้ายแรง ถ้าไม่รีบรักษาก็จะตายยกตู้

การให้อาหารปลาควรจัดปริมาณและมื้อให้แน่นอน อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป มีผลเสียทั้งสองอย่าง ให้มากปลากินเกินจนเหลือ มีเศษอาหารตกค้าง มีของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายมากจนระบบกรองรองรับไม่ไหว ให้น้อยเกินไปปลาก็ได้รับสารอาหารไม่ครบสมบูรณ์ ร่างกายจะผ่ายผอม อ่อนแอ ปลาใหญ่ที่แข็งแรงกว่าจะรังแกปลาที่อ่อนแอกว่าจนถึงขั้นกัดกินกันเอง

ตำราการเลี้ยงปลาไม่ว่าจะเล่มไหนมักบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การให้อาหารปลาควรให้เพียงวันละ 1-2 มื้อก็พอ ไม่ควรบ่อยไปกว่านั้น ในแต่ละมื้อก็ให้ในปริมาณที่ปลาสามารถกินหมดได้ใน 3-5 นาที อย่าปล่อยให้อาหารลอยอืดนานเกินไป ถ้าปลากินไม่หมดภายในเวลาดังกล่าวก็ให้รีบตักออก เพื่อป้องกันไม่ให้คุณภาพน้ำเสื่อมเร็วกว่าเวลาอันควร

ผมมักแนะนำผู้เลี้ยงที่ไม่ค่อยจะมีเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ว่าให้ให้อาหารปลาเพียงวันละมื้อเดียว และควรเป็นมื้อเช้าหรือสาย ๆ ตลอดทั้งวันหลังจากนั้นไม่ต้องให้แล้ว ด้วยวิธีการนี้ปลาอาจกินได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็ยังเรียกว่าพอเพียงไม่อดอยาก คุณภาพน้ำในตู้ก็จะใสสะอาดได้นานไม่ต้องมาเปลี่ยนถ่ายน้ำกันบ่อย ๆ ส่วนผู้เลี้ยงที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลา ชอบที่จะเห็นพวกมันได้กินกันเต็มที่ ได้ว่ายน้ำเล่นเบิกบานหลังมื้ออาหาร และมีเวลาในการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำตามสมควร แบบนี้ก็สามารถให้ได้ถึง 2 มื้อต่อวันอย่างคู่มือการเลี้ยงปลาทั่วไปเขาแนะนำกันครับ

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ

หัวข้อนี้ผมเดาว่านักเลี้ยงปลาที่ออกแนวขี้เกียจคงไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นงานที่ต้องใช้เวลาอยู่ ยิ่งถ้าตู้ปลาขนาดใหญ่ ๆ เลี้ยงปลาเยอะ ๆ แน่น ๆ จะล้างกันทีเล่นเอาเหงื่อตก

การเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลานั้นสำคัญมาก ไม่ควรละเลยสิ่งนี้ครับ บางท่านเสาะหาตู้ปลาที่มีระบบกรองซูเปอร์สเปเชียล คือไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอีกเลยในชาตินี้ ซึ่งหายังไงก็คงไม่เจอ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ครับ จำไว้เลยว่าน้ำในตู้ปลาเป็นน้ำที่รอวันเน่าเสีย เพราะมันมีปริมาณน้อยมาก (หากเทียบกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่เพียบพร้อมด้วยระบบนิเวศ) และต้องรองรับของเสียตลอดเวลาจากปลาที่เลี้ยงและอย่างอื่นอีกสารพัน ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหารตกค้าง เศษใบไม้ อินทรียวัตถุต่าง ๆ ระบบกรองอย่างที่เล่ามาในหัวข้อ 1 นั้น ต่อให้ดีวิเศษแค่ไหนก็เป็นเพียงแค่ประวิงเวลาให้คุณภาพน้ำเสื่อมสภาพช้าลง การเปลี่ยนเอาน้ำใหม่ลงไปในตู้เป็นประจำจะทำให้คุณภาพน้ำที่ค่อย ๆ ลดลงกลายมาเป็นน้ำที่ดีขึ้น ปลาเองเมื่อได้น้ำใหม่ก็จะสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีความสุข สีสันออกเต็มที่ ผิดกับปลาที่เลี้ยงในตู้ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นเวลานาน ๆ มักจะมีอาการหม่นหมอง เกล็ดไม่มันสีไม่สด และอาจอมโรคไว้หลายโรคเช่น โรคหัวหลุม โรคเหงือกอ้าหรือเหงือกร่น และโรคเน่าตามครีบและลำตัว ซึ่งสาเหตุก็มาจากความเป็นพิษในน้ำอันเกิดจากการสะสมตัวของความสกปรกดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

หลายท่านเข้าใจว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นงานใหญ่ ต้องตักปลาออกไปพักไว้ในกาละมัง ต้องโกยเอากรวดหินประดับสารพัดในตู้ออกมาล้างขัดและตากแดด ส่วนตู้นั้นก็ให้ขัดด้วยน้ำยาล้างจาน ระบบกรองก็ให้รื้อออกมา ฉีดล้างน้ำยาจนเอี่ยมอ่อง ผมแน่ใจว่าเคยได้คุยกับผู้เลี้ยงหลายรายที่ใช้วิธีนี้ บางท่านจัดเอาวันล้างตู้ปลาเป็นวันครอบครัว คือทั้งพ่อแม่ลูกต้องอยู่บ้านช่วยกันคนละไม้ละมือ ทำตั้งแต่เช้ากว่าจะเสร็จก็เกือบเย็น จากนั้นค่อยออกไปฉลองกินสุกี้เอ็มเคกันต่อไปอย่างหิวโหย เพราะใช้พลังงานไปล้านกว่าแคลอรี่ กลับมาบ้านน้ำในตู้ก็ยังไม่ใสอยู่ดี แถมอาจมีปลาตายเพราะได้รับสารเคมีจากน้ำยาล้างจาน

จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลานั้นง่ายมาก ง่ายจนหลายคนกังขาว่าจริงรื้อ? โม้รึเปล่า? ทำอย่างงั้นแล้วตู้มันจะสะอาดได้ไง้?...ได้สิครับ ถ้าทำตามเงื่อนไขที่ผมสาธยายมา 3 หัวข้อแรก ข้อสุดท้ายคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำก็จะกลายเป็นง่ายนิดเดียวคือสัปดาห์ละ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมากไปกว่านั้นเลย



ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำแบบง่าย ๆ ทำดังนี้ครับ

1 ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในตู้ปลาออกให้หมด

2 เช็ดกระจกด้านในที่อาจมีคราบตะไคร่หรือเมือกปลาเกาะอยู่ (เดี๋ยวนี้มีแม่เหล็กขัดกระจก ใช้ง่ายไม่ต้องล้วงมือลงในตู้) ตัดตกแต่งต้นไม้น้ำ (หากมี) ปล่อยให้ตกตะกอนอย่างน้อย 10 นาที ในระหว่างนี้ก็ถือโอกาสเปลี่ยนใยกรองหรือหากใช้กรองประเภทกระป๋องหรือฟองน้ำก็ให้เอาออกมาบีบซักทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าเบา ๆ แล้วเอากลับเข้าที่เดิม

3 ดูดของเสียที่ตกตะกอนออกด้วยไซฟอน (หรือซัคชั่น อุปกรณ์เปลี่ยนถ่ายน้ำอีกอันที่ควรมีติดบ้านไว้ ราคาไม่แพง) ย้ายตำแหน่งการดูดไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ เพื่อไม่ให้ปลาตกใจ จนน้ำออกจากตู้ 20-25เปอร์เซ็นต์ก็หยุด

4 เกลี่ยพื้นกรวดและจัดตำแหน่งของวัสดุตกแต่ง เช่นต้นไม้น้ำ ให้เข้าที่เข้าทาง

5 เติมน้ำโดยใช้น้ำปราศจากคลอรีนและมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับน้ำในตู้ ถ้าใช้สายยางเติมให้เปิดน้ำเบา ๆ ช้า ๆ เพื่อให้ปลาค่อย ๆ ปรับตัวกับน้ำใหม่ ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำยาอะไรทั้งสิ้นหลังเติมน้ำ

เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยครับ ไม่ยุ่งยากอะไรเลยแถมยังใช้เวลาน้อย ทำคนเดียวก็ได้ด้วย ไม่ต้องลากคนทั้งครอบครัวมาเหนื่อยยากวุ่นวาย

หากทำได้อย่างที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมด 4 หัวข้อ การมีตู้ปลาที่น้ำข้างในใสแจ๋วดังว้อดก้าสเมอร์นอฟก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ขอให้สนุกกับการเลี้ยงปลาครับ

บทความโดย พิชิต ไทยยืนวงษ์
ภาพ             สายพร มาพรหม

1 ความคิดเห็น:

Meesubandmeesuk กล่าวว่า...

แวะมาทักทายค่ะ เรียบร้อยแล้วนะคะสำหรับ Readmore ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้างสำหรับธุรกิจนี้ ขอให้รุ่งเรืองขึ้นเรือย ๆ นะคะ สำหรับ facebook add ไปเรียบร้อยค่ะ น้องใช้ชื่อว่า aphsara ค่ะ เปิดดู profile เห้นสาวบ้าน ๆ ใช่เลย 555