เชื้อโปรโตซัวจุดขาวมีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติเช่นห้วย หนอง คลอง บึง ในบ่อปลาภายในบ้าน หรืออ่างบัวเล็ก ๆ ก็มีเชื้อจุดขาวเช่นกัน ส่วนตู้ปลานั้นไม่ต้องพูดถึง ต่อให้ล้างทำความสะอาดอย่างไร ประเคนน้ำยาสารพัดขนาดไหน น้ำในตู้ของท่านก็ยังต้องมีเชื้อโปรโตซัวเหล่านี้รวมทั้งแบคทีเรีย เชื้อราอะไรต่อมิอะไรอีกหลายเผ่าพันธุ์แฝงตัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มันจะหาเหตุก่อการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจปลาในตู้ท่านได้ก็ต่อเมื่อปลาที่เลี้ยงมีความอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพของสุขภาพร่างกาย เรียกได้ว่าแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปลาของท่านก็จะติดเชื้อประเภทต่าง ๆ ได้ทันที
โรคปลามีหลายโรค แต่ช่างหัวมันก่อนเพราะในตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องโรคจุดขาว ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงฤดูหนาวของทุก ๆ ปี
วงจรชีวิตของโปรโตซัวชนิดนี้สั้น แต่ขยายพันธุ์เร็วมากด้วยวิธีการแบ่งตัวแบบทวีคูณ ในขั้นแรกเชื้อนี้จะเข้าสู่ตัวปลาที่อ่อนแอโดยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผิวหนัง เกล็ด ครีบและภายในเหงือกปลา แผลที่ถูกกัดจะทำให้ปลาระคายเคืองและอักเสบ เมื่ออิ่มหนำได้ที่ดีเจ้าเชื้อจุดขาวที่เริ่มอวบอ้วนก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้น หาแหล่งกบดานเช่นกรวด ขอนไม้ ผนังข้างตู้ หรือแม้ภายในระบบกรอง จากนั้นก็เริ่มกระบวนการแบ่งตัว จากเชื้อแค่ตัวเดียวมันสามารถแยกร่างออกได้เป็นพัน ๆ เชื้อที่เกิดใหม่แสนหิวโหยก็จะกรูขึ้นไปหาแหล่งอาหาร ซึ่งก็คือปลาเคราะห์ร้ายของเรา อิ่มแล้วก็ทิ้งตัวลง แบ่งตัวเพิ่ม แล้วขึ้นไปกินโต๊ะจีนใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนปลาทยอยตายเกลี้ยงตู้
สังเกตอย่างไรว่าปลาติดโรคจุดขาวแล้ว
ดูจากพฤติกรรมปลาในตู้ หากเห็นว่าผิดไปจากเดิมเช่นที่เคยว่ายน้ำตลอดเวลากลับกลายเป็นซึม แอบนิ่งข้างตู้หรือลอยคอผิวน้ำ หรือปลาที่ปรกติอยู่นิ่ง ๆ (เช่นพวกปลาในกลุ่มแคทฟิช) กลับกลายเป็นลอกแลก กระวนกระวาย คอยว่ายเอาข้างเข้าถูเหมือนคนไร้เหตุผล หรือออกอาการทางจิตประสาทเช่นว่ายวนเป็นวงกลมตลอดเวลา อย่างนี้ให้สงสัยได้เลยว่าอาจเป็นโรคจุดขาวเข้าให้แล้ว
จากสังเกตแบบรวม ๆ จนจับได้ถึงความผิดปรกติ ขั้นต่อไปก็โฟกัสไปยังปลาที่สันนิษฐานว่าป่วย มองอย่างใกล้ชิด หากเป็นโรคจุดขาวก็จะได้เห็นเม็ดสีขาวเล็ก ๆ คล้ายผงเกลือป่นจับติดตามครีบและผิวปลา ถ้าปลายังเป็นไม่มากอาจพบเพียงเล็กน้อย แต่ก็อย่าชะล่าใจรอให้มันเป็นมากกว่านี้แล้วค่อยรักษา โรคจุดขาวนั้นไม่ใช่โรครักษายากก็จริง แต่ถ้าปล่อยให้เป็นเยอะเปอร์เซ็นต์การรอดของปลาก็จะน้อยลง เพราะร่างกายของมันจะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วด้วยการทวีคูณของจำนวนเชื้อโปรโตซัวบนตัวมัน
การรักษา
ก่อนอื่นควรแยกปลาที่มีอาการมากออกจากปลาที่มีอาการน้อยหรือยังไม่แสดงอาการ นอกเสียจากว่าดู ๆ แล้วมันเป็นพอ ๆ กันก็ใช้วิธีรักษารวม
ตู้รักษาโรคปลาควรเป็นตู้กระจกโล่ง ไม่ต้องปูกรวด สามารถจุน้ำได้อย่างน้อย 50 ลิตร (หรือน้อยกว่านั้นก็พอไหวแต่อย่าให้เล็กเกินไปนัก) มีกรองโฟมหรือกรองฟองน้ำสักหนึ่งตัวเพื่อรักษาสภาพน้ำและเพิ่มออกซิเจน ใส่วัสดุประเภทดินเผาหรือขอนไม้เพื่อให้ปลาหลบซ่อนลดความเครียด และถ้าเป็นไปได้ การใส่ฮีทเตอร์เพื่อปรับอุณหภูมิให้คงที่ที่ 30 องศาเซลเซียส จะทำให้การรักษาโรคจุดขาวมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
บางท่านไม่สะดวกย้ายปลาก็อาจรักษาในตู้เลี้ยงนั้นเลยก็ได้ แต่อาจไม่ได้ผลรวดเร็วเท่า เพราะตู้เลี้ยงมักมีกรวดรองพื้น มีวัสดุตกแต่งที่จุดขาวใช้เป็นที่พักหลบซ่อนระหว่างการขยายตัว มีระบบกรองที่ดูดซับตัวยาทำให้การทำลายเชื้อของยาอ่อนลง
ยารักษาโรคจุดขาวส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารเคมีที่ชื่อมาลาไคท์กรีนและฟอร์มาลิน สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามตามบ้านทั่ว ๆ ไปไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อสารเคมีดังกล่าวตามร้านเคมีภัณฑ์ให้วุ่นวาย แค่ร้านขายปลาก็มียาประเภทนี้ขายมากมายหลายยี่ห้อ ราคาก็ไม่แพงแถมยังใช้งานง่ายกว่าเพราะออกแบบมาสำหรับใช้กับปลาจำนวนน้อย ๆ อยู่แล้ว วิธีและปริมาณการใช้ก็อ่านจากฉลากข้างขวดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ยายี่ห้อที่ได้มาตรฐานมักมีคำเตือนว่าปลาบางชนิดแพ้สารเคมีนี้ เช่นปลาแคทฟิชทุกชนิด ปลาหมู ปลาอะโรวาน่า ปลาเสือตอปลาในกลุ่มเตตร้าทุกชนิด เป็นต้น (หากไม่มีคำเตือนดังกล่าวก็อนุมานได้ว่าเป็นยาค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานหรือผลิตกันเองตามบ้าน)
หากปลาที่เลี้ยงเป็นปลาทั่วไปเช่นปลาทอง ปลาเทวดา ปลาหมอสี ฯลฯ การใช้ยาก็สามารถใช้ได้เต็มที่ตามวิธีใช้ แต่หากต้องการจะใช้รักษาปลาชนิดที่แพ้สารมาลาไคท์กรีนก็ต้องลดปริมาณตัวยาลงครึ่งหนึ่ง การใช้ยาต้องระมัดระวังอย่าให้ถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เนื่องจากสารเคมีนี้มีพิษ เป็นสารก่อมะเร็ง แม้กระทั่งการใช้กับปลาก็ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกินไป
เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันโดยใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีนและมีอุณหภูมิเท่ากับน้ำในตู้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำนอกจากจะช่วยกำจัดตัวอ่อนของเชื้อจุดขาวไปบางส่วนแล้วยังช่วยให้ปลาสดชื่นจากน้ำใหม่ ๆ อีกด้วย ไม่ควรเปลี่ยนน้ำมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และหลังจากเปลี่ยนน้ำก็ใส่ยาเพิ่มลงไปเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณยาเพื่อให้ความเข้มข้นคงเดิม
การใช้ฮีทเตอร์ ควรปรับอุณหภูมิของฮีทเตอร์ไว้ที่ 30 องศาเซลเซียสและเทียบอุณหภูมิของน้ำด้วยเทอร์โมมิเตอร์อีกตัวหนึ่ง เนื่องจากฮีทเตอร์ที่มีขายตามท้องตลาดส่วนมากไม่ค่อยตรง เช่นตั้งไว้ที่ 30 องศาแต่ความเป็นจริงอาจสูงเกินไปที่ 32 องศา จุดขาวมีการเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในน้ำอุณหภูมิต่ำ การปรับให้อุณหภูมิน้ำคงที่อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสจะทำให้เชื้อจุดขาวในระยะตัวอ่อนอ่อนแอและมีอายุสั้นลง ยาจะใช้ได้ผลดีมากในช่วงเวลานี้
ปลาที่โดนเชื้อจุดขาวเล่นงานมักมีอาการอักเสบต่อเนื่องด้วยการติดเชื้อจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้นอาจใช้ยาปฎิชีวนะร่วมด้วยเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าว ยาปฎิชีวนะสำหรับรักษาปลาสวยงามก็มีขายตามร้านปลาสวยงามอีกนั่นแหละ แต่ก็สามารถใช้ยาคนได้เช่นกัน เช่นแอมม็อคซี่ซิลิน เตตร้าซัยคลิน ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อัตราส่วนการใช้คือ 25 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้งก็ใส่ยาปฎิชีวนะเพิ่มตามปริมาณน้ำที่เติมเข้าไปใหม่เช่นกัน
ในช่วงอากาศหนาวเย็นปลาจะอ่อนแอกว่าปรกติ ควรลดปริมาณอาหารลงและหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำทำความสะอาดตู้ให้บ่อยขึ้น ระวังอุณหภูมิของน้ำที่นำมาเปลี่ยนถ่าย หากต่างกับน้ำเดิมมากเกินไปก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ปลาเป็นโรคจุดขาวง่ายขึ้น สำหรับปลาที่เริ่มมีอาการซึม เบื่ออาหาร ครีบหางลู่ตก ให้รีบแยกออกมาทันทีเพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป การนำปลาจากแหล่งอื่นมาใส่รวมกับปลาเดิมในตู้ก็ต้องระมัดระวัง ต้องมั่นใจว่าปลานั้นสุขภาพแข็งแรงดี ไม่อยู่ในตู้ที่มีสภาพน้ำแย่มาก่อน จะให้แน่ใจควรแยกเลี้ยงปลานั้นต่างหากไว้ก่อนสักหนึ่งสัปดาห์ หากไม่มีอาการใดผิดปรกติจึงค่อยนำมาเลี้ยงรวม
![]() |
ปลาแพะป่วยเป็นโรคจุดขาว |
บทความโดย พิชิต ไทยยืนวงษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น